บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

แหล่งความรู้ต่างๆการเลี้ยงปลาการ์ตูน ปลาหางนกยุง ปลากัด


ปลาการ์ตูน สัตว์เลี้ยงน่ารัก สีสันจากท้องทะเล

            ปลาการ์ตูน สัตว์เลี้ยงน่ารัก สีสันจากท้องทะเล




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wikipedia.org

          ปลาการ์ตูน (Clownfish) เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในทะเล จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกปลาสลิดหิน พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทั่วโลก ปลาการ์ตูน ชอบอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลที่มีเข็มพิษสำหรับป้องกันอันตราย แต่ไม่เป็นอันตรายกับ ปลาการ์ตูน ทำให้สามารถอยู่กันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน
          ทั้งนี้ ปลาการ์ตูน เป็นปลาทะเลที่นิยมนำมาเลี้ยงกัน เพราะมีสีสันสวยงาม ปลาการ์ตูน ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ตามธรรมชาตินั้น ปลาการ์ตูน จะอยู่กันเป็นครอบครัว และกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ทั้งนี้ ปลาการ์ตูน เป็นปลาที่หวงถิ่นมากจะมีเขตที่อยู่ของตนเอง

          สำหรับ ปลาการ์ตูน มีทั้งหมด 28 ชนิด ในเมืองไทยพบ ปลาการ์ตูน 7 ชนิด พบทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ได้แก่ ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดียแดง ปลาการ์ตูนแดง ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ ปลาการ์ตูนอานม้า ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนอินเดียน

          ทั้งนี้ ปลาการ์ตูน ทั้ง 7 ชนิด ที่พบในประเทศไทย สามารถที่จะผสมพันธุ์และวางไข่ในตู้เลี้ยงได้ทุกชนิด การเพาะพันธุ์ ปลาการ์ตูน นั้น ต้องเริ่มจากการจับคู่พ่อ-แม่พันธุ์ที่จะผสมพันธุ์วางใข่ เพศของปลาการ์ตูนนั้นไม่สามารถบอกได้จากลักษณะภายนอก อีกทั้ง ปลาการ์ตูน สามารถที่จะเปลี่ยนเพศได้ โดยเพศของ ปลาการ์ตูน จะถูกกำหนดโดยโครงสร้างของสังคม และเมื่อเปลี่ยนเป็นเพศเมียแล้ว จะไม่สามารถกลับมาเป็นเพศผู้ได้อีก ทำให้การจับคู่ ปลาการ์ตูน มีความสลับซับซ้อนมาก

          สำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ การเลี้ยง ปลาการ์ตูน เพื่อเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จึงควรเริ่มจากปลาที่มีขนาดยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ และควรใช้ ปลาการ์ตูน ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงมากกว่าปลาธรรมชาติ เพราะจะมีความทนทานมากกว่า โดยควรนำปลามาเลี้ยงรวมกันเป็นฝูง ประมาณ 6-8 ตัว หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับขนาดตู้เลี้ยง เมื่อ ปลาการ์ตูน เริ่มจับคู่จะสังเกตว่าทั้งสองตัวจะแยกตัวออกจากฝูงและหวงอาณาเขต จากนั้นให้แยก ปลาการ์ตูน คู่นั้นออกจากตู้ไปเลี้ยงในตู้ที่เตรียมไว้สำหรับเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

การเลี้ยง ปลาการ์ตูน พ่อพันธุ์ - แม่พันธุ์

          ตู้ที่ใช้เลี้ยง ปลาการ์ตูน พ่อพันธุ์ - แม่พันธุ์ ควรมีขนาดความจุอย่างต่ำ ประมาณ 100 ลิตร มีระบบกรองภายในหรือภายนอกตู้ เลี้ยงปลาแยกกันตู้ละ 1 คู่ ในตู้ให้จัดหาวัสดุสำหรับให้ปลาหลบซ่อน และสำหรับวางไข่ได้ เช่น แผ่นกระเบื้องปูพื้น กระเบื้องทะเลเข้าไปในตู้ เพราะปลาสามารถวางไข่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีดอกไม้ทะเลอาหารที่ใช้เลี้ยงพ่อ - แม่พันธุ์ ให้ใช้อาหารสดที่มีคุณภาพดี เช่นเนื้อหอยลายสับ เนื้อกุ้ง ไรน้ำเค็มที่เสริมกรดไขมัน ไข่ตุ๋น ฯลฯ สลับกัน ให้อาหารวันละ 1 - 2 ครั้ง ระวังอย่าให้มีอาหารตกค้างอยู่ในตู้ ควบคุมคุณภาพน้ำโดยการทำความสะอาดก้นตู้ เปลี่ยนถ่ายน้ำครั้งละ 10-20% ทุก 2 อาทิตย์

การดูแลและการฟักไข่ ปลาการ์ตูน

          พ่อ - แม่ปลาจะทำการดูแลไข่ในระหว่างการฟัก ซึ่งส่วนใหญ่ตัวผู้จะรับหน้าที่ไข่ใช้เวลาฟักประมาณ 7 วัน แต่ในช่วงอากาศหนาวจะใช้เวลาประมาณ 5-9 วัน หรือในช่วงทีอากาศร้อนจะใช้เวลาประมาณ 6 วัน การนำไข่ออกมาฟัก สามารถกระทำได้แต่จะให้ผลไม่ดีเท่ากับปล่อยให้พ่อ - แม่ปลาฟักไช่เอง การสังเกตว่าลูกปลาจะฟักหรือยัง สังเกตได้จากตาของลูกปลาที่อยู่ในถุงไข่ จะกลายเป็นสีน้ำเงินสะท้อนแสง ซึ่งแสดงว่าลูกปลาพร้อมที่จะฟักออกเป็นตัวแล้ว ลูกปลาจะฟักในช่วงหัวค่ำประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากมืดสนิท

การอนุบาลปลาลูก ปลาการ์ตูน

          หลังจากลูกปลาฟักออกเป็นตัวให้แยกลูกปลาออกจากตู้ โดยใช้กระชอนผ้ารวบรวมลูกปลาและตักออกมาพร้อมน้ำ ระวังอย่าให้ลูกปลาสัมผัสกับอากาศ นำไปอนุบาลในตู้กระจกขนาดเล็ก ความหนาแน่นสูงสุดไม่ควรเกิน 10 ตัวต่อลิตร ให้อากาศแรงพอประมาณ ระหว่างการอนุบาลใช้ โรติเฟอร์ ไรน้ำเค็ม และสาหร่ายชนาดเล็ก เช่น ไอโซโครซิส เป็นอาหารในระยะ 2-3 วันแรกอาจใช้วิธีเพิ่มน้ ในตู้ปลาอนุบาล

          หลังจากนั้นจึงทำการดูดตะกอน เปลี่ยนถ่ายน้ำมันทุกวัน วันละ 20-50% ลูกปลาจะเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปร่างโดยจะมีลวดลาย สีสันบนลำตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีลักษณะเหมือนกับพ่อ - แม่โดยสมบูรณ์ เมื่อมีอายุได้ 3-4 สัปดาห์ และลูกปลาจะลงไปอาศัยอยู่ที่พื้นกันตู้ ถือว่าสิ้นสุดระยะของการอนุบาล จึงย้ายลูกปลาไปเลี้ยงต่อในตู้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อัตรารอดของลูกปลาเฉลี่ยประมาณ 10-20% และลูกปลาจะมีขนาดความยาวประมาณ 8-10 มม.


การเลี้ยงปลาการ์ตูน

          เมื่อพ้นระยะอนุบาล ให้นำปลามาเลี้ยงในตู้เลี้ยงในตู้เลี้ยงที่ใหญ่ขึ้น ความหนาแน่น ประมาณ 1 ตัวต่อลิตร และเริ่มเปลี่ยนอาหารมาเป็นอาหารสด เช่น หอยลายสับหรือเนื้อกุ้งสับ หรือจะให้อาหารที่ผสมขึ้นเอง โดยค่อยๆ ลดไรน้ำเค็มลง ตู้ที่ใช้เลี้ยงต้องมีระบบกรองภายในหรือภายนอกมีการทำความสะอาดและเปลี่ยน ถ่ายน้ำเป็นระยะ เข่น มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ 20% ทุก 2 สัปดาห์

          สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากในการเลี้ยง ปลาการ์ตูน คือ คุณภาพน้ำและความหนาแน่น ถ้าให้อาหารมากเกินไป มีสิ่งสกปรกหมักหมมอยู่ในตู้เลี้ยงหรือมีความหนาแน่นมาก มักจะเกิดโรค โดยเฉพาะโรคที่เกิดจาก Amyloodinium Ocellatum ซึ่งเมื่อเกิดแล้วลูกปลาจะตายเกือบหมด

          ดังนั้น การดูแลรักษาความสะอาดและคุณภาพน้ำเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และความต้องการจับคู่ พ่อ-แม่พันธุ์ ควรจะนำปลาที่มีอายุประมาณ 4-6 เดือน แยกเลี้ยงเป็นพ่อ - แม่พันธุ์ต่อไป โดยปลาจะถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุได้ประมาณ 8-12 เดือน

การให้อาหาร ปลาการ์ตูน

           การเลี้ยงปลาทะเลเพื่อเลี้ยงดูสวยงามนั้น ไม่ควรให้กินอาหารเกินวันละครั้งและควรให้กินแต่พออิ่ม ไม่ควรให้ตามที่ปลาต้องการ เพราะจะทำให้เกิดของเสียมาก บางช่วงถ้าปลาไม่กินอาหารเช่นในช่วยที่อากาศเย็น จะต้องงดให้อาหารหรือลดปริมาณของอาหารลง อาหารที่ให้อาจเป็นเนื้อกุ้งสับ หอยลานสับ กุ้งเคย อาหารสำหรับปลาทะเล ฯลฯ สลับกันไป และเมื่อมีอาหารเหลือตกอยู่ก้นตู้ต้องกำจัดออก ห้ามปล่อยทิ้งไว้กับตู้โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้น้ำเกิดการเน่าเสีย

    
       การเตรียมตู้ปลาสำหรับเลี้ยงปลาการ์ตูน
      
        การจะเลี้ยงปลาการ์ตูนซักคู่ จะว่าง่ายก็ง่ายจะว่ายากก็ยาก อยู่ที่ว่าเราเซตตู้ได้ดีแค่ไหน ตู้ที่แนะนำ น่าจะซัก 30 นิ้วขึ้นไป เพราะอุณหภูมิจะไม่แกว่ง และแบคทีเรียในระบบจะมีเยอะพอที่จะทำงานได้ดี
การที่เราจะเลี้ยงปลานีโม่ซัก 1 คู่ อุปกรณ์ในการเซตตู้ ไม่จำเป็นต้องเต็มระบบแบบตู้ทะเลใหญ่ๆก็ได้
ยกตัวอย่างที่ผมเลี้ยง ตู้ 36 นิ้ว มีปลานีโม่ 2 ตัว แอนนีโม 1 ตัว ปลาบลูแท๊ง 1 ตัว หนอนท่อ 1 ตัว ปูเสฉวนขาฟ้า 1 ตัว กุ้งแดง 4 ตัว
อุปกรณ์ที่ใช้ คือ
1.ตู้ 36 นิ้ว กรองบน (ไม่แนะนำให้เลียนแบบ ใช้กรองข้างดีกว่า)
2.ปูทรายหนา 1.5 นิ้ว
3.มีก้อนหินที่บำบัดแล้ว 3 ก้อน
4.ฮีตเตอร์ 300 วัตต์ 1 ตัว เซตอุณหภูมิ 28 องศา
5.ประการังในถังกรอง เต็ม
ตู้นี้เลี้ยงมาประมาณ หนึ่งปีแปดเดือน ทุกคนโตดี เพราะส่วนมากซื้อมาตัวเล็กๆทั้งนั้น ที่ใช้อยู่ก็มีแค่นี้
สำหรับการเริ่มต้น ให้เริ่มจากการเซตตู้ก่อน
1.ใส่ประการังในช่องกรองให้เต็ม แล้วตีเกลือ (เกลือสำหรับปลาทะเล ที่มีขายตามร้านปลาทะเลทั่วๆไป) วัดค่าความเค็ม ที่ 28 ppm (อุปกรณ์วัดค่าความเค็ม มีขายต้องซื้อไว้ด้วย) เดินระบบไว้อย่างนั้น ซัก 1 สัปดาห์
2.ล้างทรายให้สะอาดแล้วใส่ทรายลงไป ให้หนาตามที่ต้องการ ละใส่หินที่บำบัดแล้ว ลงไปให้สวยงาม(หินที่บำบัดแล้วส่วนมากมีขายตามร้านปลาทะเล ก้อนละ 100-150 บาท เลือกเอาตามชอบ)
3.เริ่มต้นใส่แบคทีเรีย 2-3 วัน ต่อครั้ง ใส่มากๆไม่เป็นไร แต่มันจะเปลืองเท่านั้นและถ้าให้ดี ใส่กุ้งตายซัก 1-2 ตัวลงในช่องกรองด้วยเพื่อเป็นอาหารแบคทีเรีย 3วันคร้ง (แบคทีเรียก็ต้องซื้อ มีขายเป็นขวดตามร้านอุปกรณ์ ราคา 150-400 บาทแล้วแต่ยี่ห้อ) จากนั้นก็ให้รอ ตู้เซตตัวต่อ อย่างน้อยอีกซัก 1 สัปดาห์
4.เมื่อรอจนคิดว่าตู้เซตตัวดีแล้วให้ลองซื้อนีโม่มาทดลองเลี้ยงถ้าเป็นไปได้ ซื้อที่เค้าจับคู่ไว้แล้วได้ยิ่งดี เลือกตัวที่แข็งแรงๆ ไม่เป็นเมือกเป้นจุดขาวว่ายน้ำร่าเริง
5.เมือนีโม่สามารถอยู่ได้แล้ว ให้ซื้อแอนนีโม มาให้มันซักตัว(หาซื้อตามร้านขายสัตว์ทะเลทั่วๆไป) มาใส่ให้มัน
เสร็จแล้ว
คำแนะนำข้างต้นเป็นคำแนะนำการเลี้ยงปลานีโม่แบบง่ายๆไม่ลงทุนมาก บางอย่างอย่างอาจจะดูเสี่ยงซักหน่อยเมื่อเปรียบเทียบกับการที่เราทำตู้เต็มระบบ ถ้ามีทุนมากพอ(ตัง ฮุฮุ)แนะนำให้ทำเต็มระบบไปเลยจะดีมากๆ โดนขอคำแนะนำจากร้านขายอุปกรณ์หรือร้านขายปลาครับ
คำเตือน
ตู้นีโม่ที่แนะนำ จะสามารถ เลี้ยงปลาที่ บอกไว้เท่านั้น ห้ามคัน ลงพวกสัตว์ปะหลาดหรือประการังเด็ดขาดเพราะจะทำให้ตู้ล่มได้ (การเลี้ยงประการังถ้าระบบไม่ดีพอ จะไม่รอดและทำให้ปลาเราตายไปด้วย)ตู้เราแค่นี้ เลี้ยงนีโม่สวยๆ ซัก 2 ตัวก็พอแล้ว ครับ ต้องทำใจ อย่าไปเชื่อร้านมาก ว่าเลี้ยงได้ การเซตตู้ทะเลก็ทำได้แค่ให้คำแนะนำจากประสบการณ์ที่เคยลองเลี้ยงมาจริงๆแล้วก็คงต้องทดลองกับตัวเองดูครับ

                        
                  
                     การเพาะเลี้ยงปลากัด

ปลากัด  มีชื่อสามัญว่า  Siamese  Fighting  Fish   เป็นปลาสวยงามที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมานานแล้ว   เนื่องจากเป็นปลาสวยงามที่นอกจากจะมีสีสันสดเข้มสวยงามสะดุดตามากแล้ว   ยังเป็นปลาที่จัดว่าเป็นยอดนักสู้ตัวฉกาจอย่างยิ่ง   โดยเฉพาะปลากัดที่ไปจากประเทศไทยจัดว่าเป็นปลาที่กัดเก่งและมีความทรหดมากที่สุด   ทำให้ได้รับความนิยมจากประเทศต่างๆทั่วโลก   ในประเทศไทยนิยมเลี้ยงปลากัดมานานแล้ว   และได้เน้นเป็นการเลี้ยงเพื่อเกมกีฬาโดยเฉพาะมีการจัดตั้งเป็นบ่อนการพนัน   ทางราชการจะมีการอนุญาตให้เปิดสถานที่สำหรับเดิมพันการกัดปลา   เรียก  บ่อนปลากัด  หรือ  บ่อนกัดปลา   มาตั้งแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบัน
                การเลี้ยงปลากัดเป็นปลาสวยงามมักนิยมเลี้ยงในขวดหรือโหลขนาดเล็ก   ไม่นิยมเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่น   เพราะเป็นปลาที่ชอบสร้างอาณาเขตและมักจะไล่กัดปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน   ซึ่งในช่วงนี้ปลาจะมีสีสดเข้มสวยงาม   แต่ถ้านำไปเลี้ยงกับปลาขนาดใหญ่ปลาจะตื่นตกใจ  เหมือนกับการแพ้คู่ต่อสู้   ในช่วงนี้ปลาก็จะสีซีดดูไม่สวยงาม   จึงจำเป็นต้องเลี้ยงปลากัดไว้เพียงตัวเดียวในภาชนะที่ไม่ใหญ่มากนัก   ปลาก็จะมีความรู้สึกว่าสามารถสร้างอาณาเขตของตัวเองไว้ได้ก็จะมีสีสันสดใสสวยงาม   จัดว่าเป็นปลาที่ติดตลาด   ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ   สามารถจำหน่ายได้ดีตลอดปี   โดยเฉพาะเด็กจะชอบหาซื้อปลากัดไปเลี้ยง   เพื่อนำไปกัดแข่งขันกัน   แล้วก็หาซื้อปลาตัวใหม่อยู่เสมอ
       1 ประวัติของปลากัด             
                ปลากัดเป็นปลาพื้นบ้านของไทย  ในธรรมชาติชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง  เช่น หนอง   บึง   หรือชายทุ่งนา   โดยมักพบตามชายฝั่งที่ตื้นๆและมีพรรณไม้น้ำมาก   เป็นปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวก Labyrinth  Fish   ได้แก่  พวกปลากระดี่ทั้งหลาย   ซึ่งเป็นกลุ่มปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจ   ทำให้ปลาอาศัยอยู่ในที่มีออกซิเจนต่ำได้   จึงทำให้สามารถเลี้ยงปลากัดในขวดต่างๆที่มีปากขวดแคบๆได้   ปลากัดจัดว่าเป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร   โดยจะชอบกินแมลงและตัวอ่อนของแมลงต่างๆ (Insectivores)        
 
               2 การจำแนกทางอนุกรมวิธาน             
                Nelson (1984)  ได้จัดลำดับชั้นของปลากัดไว้ดังนี้
             Superclass                :   Osteichthyes
                Class                      :   Actinopterygii
                   Order                  :  Perciformes  -- perch-like fishes
                      Suborder          :  Anabantoidei   -- labyrinthfishes
                    Family            :  Osphronemidae Bleeker, 1859 -- giant gouramis
                            Subfamily    :  Macropodinae Liem, 1963
                              Genus        :  Betta 

ปลากัดที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยมานานแล้วนั้นถูกจัดให้เป็นชนิด splendens  หรือมีชื่อวิทยาศษสตร์ว่า Betta splendens, Regan, 1910 ปัจจุบันได้มีการสำรวจพบชนิดของปลากัดประมาณ 50 - 60 ชนิด  โดยจัดแบ่งกลุ่มตามลักษณะการวางไข่ออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
                      เป็นปลากัดที่ผู้เพาะเลี้ยงปลากัดส่วนใหญ่ดำเนินการกันมานานแล้ว  ปลาเพศผู้จะสร้างรัง เรียกว่าหวอดที่บริเวณผิวน้ำและจะติดอยู่ใต้ใบพันธุ์ไม้น้ำชายฝั่ง  เพื่อใช้ในการฟักไข่  ตัวอย่างปลากัดในกลุ่มนี้ เช่น  Betta coccina   B. brownorum   B. burdigala   B. livida   B. rutilans   B. tussyae  1 กลุ่มแรก เป็นปลากัดที่ก่อหวอดวางไข่
                     2 กลุ่มที่สอง เป็นปลากัดอมไข่  เป็นปลากัดที่ถูกนำมาเลี้ยงยังไม่นานนัก  เป็นปลาที่มีพฤติกรรมการแพร่พันธุ์วางไข่คล้ายกับปลาหมอสีกลุ่มที่อมไข่  เพื่อให้ไข่ฟักตัวภายในปาก  ตัวอย่างปลากัดในกลุ่มนี้ เช่น  Betta akarensis    B. patoti    B. anabatoides    B. macrostoma    B. albimarginata   B. channoides 
      
ภาพที่ 5  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดอมไข่
                  ที่มา : http://ibc-smp.org/species/splendens.html

                                                                                                                           
3 ลักษณะรูปร่างของปลากัด          
                ปลากัดจัดเป็นปลาขนาดเล็ก     ลำตัวมีความยาวประมาณ  5 - 7  เซนติเมตร   ลักษณะลำตัวเรียวยาว   แบนข้าง   ปากมีขนาดเล็กเชิดขึ้นด้านบนเล็กน้อย   ส่วนหัวมีเกล็ดปกคลุม   ครีบก้นมีฐานครีบค่อนข้างยาว   มีจำนวนก้านครีบ  23 - 26 อัน   ครีบท้องเล็กยาว   สีของลำตัวเป็นสีเทาแกมดำ   สีของครีบและเกล็ดบริเวณใกล้ครีบจะเป็นสีสดเข้มสีใดสีหนึ่งทั้งตัว   เช่น  ปลากัดสีแดง   จะมีครีบทุกครีบและเกล็ดที่อยู่ใกล้ครีบเป็นสีแดงทั้งหมด
                                                                                                                             
4 ลักษณะพันธุ์ของปลากัด       
                ปลากัดที่มีเพาะเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบัน   มีหลายสายพันธุ์ดังนี้
                4.1 ปลากัดลูกหม้อ   มีลักษณะลำตัวค่อนข้างหนาเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น   ส่วนหัวค่อนข้างโต   ปากใหญ่   ครีบสั้นสีเข้ม   เดิมมักจะเป็นสีเขียว   หรือสีน้ำเงินแกมแดง   แต่ปัจจุบันมีหลายสี   เช่นสีแดง   สีน้ำเงิน   สีม่วง   สีเขียว   และสีนาก   เป็นชนิดที่มีความอดทน   กัดเก่ง   ได้รับความนิยมสำหรับการกัดพนัน
    
                  4.2 ปลากัดลูกทุ่ง   มีลักษณะลำตัวเล็กกว่าพันธุ์ลูกหม้อ   ลำตัวค่อนข้างยาว   ครีบยาวปานกลางหรือยาวกว่าพันธุ์ลูกหม้อเล็กน้อย   สีไม่เข้มมากนัก   ส่วนมากมักจะเป็นสีแดงแกมเขียว   เป็นพันธุ์ที่มีความตื่นตกใจได้ง่ายที่สุด   การกัดจะมีความว่องไวมากกว่าพันธุ์ลูกหม้อ   ปากคม   แต่ไม่ค่อยมีความอดทน   ใช้เวลาประมาณ  30  นาทีจะรู้ผลแพ้ชนะ   นิยมใช้ในวงการกัดพนันเช่นกัน
       
                  4.3 ปลากัดลูกผสม   หรือพันธุ์สังกะสี   หรือพันธุ์ลูกตะกั่ว   เป็นลูกปลาที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลากัดลูกหม้อกับปลากัดลูกทุ่ง   โดยอาจผสมระหว่างพ่อเป็นปลาลูกหม้อกับแม่เป็นปลาลูกทุ่ง   หรือพ่อเป็นปลาลูกทุ่งกับแม่เป็นปลาลูกหม้อ   ได้ทั้งสองแบบ   ผู้เพาะต้องการให้ปลาลูกผสมที่ได้มีลักษณะปากคม   กัดคล่องแคล่วว่องไวแบบปลาลูกทุ่ง   และมีความอดทนแบบปลาลูกหม้อ  
                 4.4 ปลากัดจีน   เป็นปลากัดที่เกิดจากการเพาะและคัดพันธุ์ปลากัดโดยเน้นเพื่อความสวยงาม   พยายามคัดพันธุ์เพื่อให้ปลามีหางยาวและสีสันสดเข้ม   จนในปัจจุบันสามารถผลิตปลากัดจีนที่มีความสวยงามอย่างมาก   มีครีบต่างๆค่อนข้างยาว   โดยเฉพาะครีบหางจะยาวมากเป็นพิเศษและมีรูปทรงหลายแบบ   มีสีสันสดสวยมากมายหลายสี   เป็นปลาที่ไม่ค่อยตื่นตกใจเช่นเดียวกับปลาหม้อ   แต่ไม่มีความอดทน   เมื่อปล่อยกัดกันมักรู้ผลแพ้ชนะภายใน  10  นาที   ไม่นิยมใช้ในการกัดพนัน
       
               ปัจจุบันผู้เพาะพันธุ์ปลากัดสามารถเพาะพันธุ์ปลากัดสายพันธุ์ใหม่ๆออกมาอีกหลายสายพันธุ์  และมีความหลากหลายทางด้านสีสันอีกด้วย  ทำให้มีการเรียกชื่อสายพันธุ์ปลากัดเพิ่มขึ้นอีกมากมาย  ได้แก่  ปลากัดสองหาง (Double Tail)  ปลากัดหางหนามมงกุฎ (Crown Tail)  ปลากัดหางพระจันทร์  เป็นต้น
   
  5 การจำแนกเพศปลากัด        
                ปลากัดเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะภายนอกที่แสดงความแตกต่างกัน   ซึ่งพอจะสังเกต
ได้หลายประการ  คือ
                5.1 สีของลำตัว   ปลาเพศผู้จะมีสีของลำตัวและครีบ   เข้มและสดกว่าปลาเพศเมียอย่างชัดเจน   เมื่อปลามีอายุตั้งแต่  2  เดือน  หรือมีขนาดตั้งแต่  3  เซนติเมตรขึ้นไป
                5.2 ขนาดของตัว   ปลาที่เลี้ยงในครอกเดียวกันปลาเพศผู้จะเจริญเติบโตเร็วกว่าปลาเพศเมีย
                5.3 ความยาวครีบ   ปลาเพศผู้จะมีครีบหลัง   ครีบหาง   และครีบก้นยาวกว่าของปลาเพศเมียมาก   ยกเว้นปลากัดหม้อจะยาวต่างกันไม่มากนัก
                5.4 เม็ดไข่นำ  ปลาเพศเมียจะมีเม็ดหรือจุดขาวๆอยู่  1  จุด   ใกล้ๆกับช่องเปิดของช่องเพศ   ลักษณะคล้ายกับไข่ของปลากัดเอง   เรียกจุดนี้ว่าไข่นำ   ส่วนปลาเพศผู้ไม่มี   

 6 การแพร่พันธุ์ของปลากัด      
                ในธรรมชาติปลากัดเป็นปลาที่วางไข่ได้เกือบตลอดปี   โดยปลาจะจับคู่วางไข่ตามน้ำนิ่ง   ปลาเพศผู้จะทำหน้าที่สร้างรัง   ด้วยการก่อหวอดที่บริเวณผิวน้ำและจะติดอยู่ใต้ใบพันธุ์ไม้น้ำชายฝั่ง   หวอดนี้ทำจากลมและน้ำลายจากตัวปลา   โดยการที่ปลาเพศผู้จะโผล่ขึ้นมาที่ผิวน้ำ   แล้วใช้ปากฮุบเอาอากาศที่ผิวน้ำเข้าปาก   ผสมกับน้ำลายแล้วพ่นออกมาเป็นฟองอากาศเล็กๆลอยติดกันเป็นกลุ่มทรงกลม   เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  5  เซนติเมตร   จากนั้นจะกางครีบว่ายวนเวียนอยู่ใกล้ๆหวอด   เป็นเชิงชวนให้ปลาเพศเมียที่มีไข่แก่เข้ามาที่หวอด   การผสมพันธุ์วางไข่จะเกิดขึ้นในช่วงเช้า   เวลาประมาณ  7.00 - 8.00  .   โดยทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะเข้าไปอยู่ใต้รัง  จากนั้นปลาเพศผู้จะงอตัวรัดบริเวณท้องของปลาเพศเมีย   ลักษณะนี้เรียกว่า การรัด”   ปลาเพศเมียจะปล่อยไข่ออกมาครั้งละ  7 - 20 ฟองในขณะเดียวกันปลาเพศผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่   ในช่วงนี้ทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะค่อยๆจมลงสู่ก้นบ่อ   จากนั้นปลาเพศผู้จะค่อยๆคลายการรัดตัว   แล้วรีบว่ายน้ำไปหาไข่ที่กำลังจมลงสู่พื้น   ใช้ปากอมไข่นำไปพ่นติดไว้ที่หวอด   ปลาเพศเมียก็จะช่วยเก็บไข่ไปไว้ที่หวอดด้วย   เมื่อตรวจดูว่าเก็บไข่ไปไว้ที่หวอดหมดแล้ว  จากนั้นปลาก็จะทำการรัดตัวกันใหม่   ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนแม่ปลาไข่หมดท้อง   ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ  2  ชั่วโมง   เมื่อวางไข่หมดแล้วปลาเพศผู้จะไล่กัดขับไล่ปลาเพศเมียไม่ให้มาใกล้รังอีกเลย   เพราะเมื่อปลาเพศเมียวางไข่หมดแล้วมักจะกินไข่ของตัวเอง   จะมีเฉพาะปลาเพศผู้เท่านั้นที่คอยดูแลรักษาไข่   คอยไล่ไม่ให้ปลาตัวอื่นเข้าใกล้รัง   และจะคอยเปลี่ยนลมในหวอดอยู่เสมอ   ไข่ของปลากัดจัดว่าเป็นไข่ประเภทไข่ลอย   ถึงแม้ตอนปล่อยจากแม่ปลาใหม่ๆไข่จะจมน้ำ   แต่เมื่อถูกนำไปไว้ในหวอดจะพัฒนาเกิดหยดน้ำมันและลอยน้ำได้ดี   ลักษณะไข่เป็นเม็ดกลมสีขาว   ใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ  30 - 40  ชั่วโมง   ปลาเพศเมียที่มีขนาดความยาวประมาณ  4 - 6  ซมจะมีไข่ประมาณ  300 - 700 ฟอง   เมื่อวางไข่ไปแล้วจะสามารถวางไข่ครั้งต่อไปภายในเวลาประมาณ  20 - 30  วัน
                                                                                                                            
7 การเพาะพันธุ์ปลากัด      
                การเพาะพันธุ์ปลากัดดำเนินได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
                7.1 การเตรียมพ่อแม่พันธุ์   ปลากัดจะสมบูรณ์เพศเมื่ออายุ  4 - 6  เดือน   สามารถนำไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้   การเลือกปลาเพศผู้ควรเลือกปลาที่คึกคะนอง  คือ  เมื่อนำปลาดังกล่าวไปใกล้กับปลาเพศผู้ตัวอื่น   ก็จะแสดงอาการก้าวร้าวทันที   โดยจะกางกระพุ้งแก้มและกางครีบ  รี่เข้าหาปลาตัวอื่นทันทีพร้อมที่จะกัด   หรืออาจสังเกตจากการสร้างหวอดก็ได้   เพราะปลาเพศผู้ที่สมบูรณ์เพศและพร้อมจะผสมพันธุ์   มักจะสร้างหวอดในภาชนะที่เลี้ยงเสมอ   สำหรับปลาเพศเมียควรเลือกปลาที่มีท้องแก่  คือมีไข่แก่เต็มที่   โดยสังเกตได้จากส่วนท้องของปลา   ซึ่งจะขยายตัวพองออกอย่างชัดเจน   และเมื่อลองให้อดอาหารเป็นเวลา  1  วัน   ส่วนท้องก็ยังคงขยายอยู่เช่นเดิม   นำแม่ปลาที่เลือกได้ไปใส่ขวดแล้วนำไปวางเทียบกับปลาเพศผู้   เมื่อปลาเพศผู้แสดงอาการเกี้ยวพาราสี   ปลาเพศเมียที่ท้องแก่จะเกิดลายสีขาวแกมเหลืองพาดจากส่วนหลังลงไปทางส่วนท้อง  จำนวน 4 - 6 แถบ ในเรื่องสีสันของปลานั้นสามารถเลือกได้ตามความชอบของผู้ดำเนินการ  เพราะปลาสีต่างกันสามารถผสมกันได้             
 
ภาพที่ 21  แสดงลักษณะแม่ปลาที่ท้องแก่
               7.2 การเทียบพ่อแม่พันธุ์   เมื่อเลือกได้ปลาเพศผู้และเพศเมีย   ที่สมบูรณ์มีลักษณะและสีสันตามต้องการแล้ว   นำปลาใส่ขวดแก้วใสขวดละตัวแยกเพศกันไว้ก่อน   แล้วนำมาตั้งเทียบกันไว้   โดยการวางขวดใส่ปลาให้ชิดกันและไม่ต้อมีกระดาษปิดคั่น   ต้องการปล่อยให้ปลามองเห็นกัน   ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า การเทียบ”   ควรเทียบไว้นานประมาณ  4 - 7  วัน   เพื่อให้ปลาเกิดความเคยชินซึ่งกันและกัน   เมื่อปล่อยลงบ่อเพาะแม่ปลาจะไม่ถูกพ่อปลาทำร้ายมากนัก   ในขณะเดียวกันแม่ปลาก็จะมีไข่แก่เต็มที่
  
ภาพที่ 22  แสดงลักษณะการเทียบพ่อแม่พันธุ์ปลากัดในขวด(ซ้าย) และในภาชนะขนาดใหญ่(ขวา)
              7.3 การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์   บ่อหรือภาชนะที่จะใช้เป็นบ่อเพาะปลากัดควรมีขนาดเล็ก   ส่วนมากนิยมใช้ภาชนะต่างๆไม่มีบ่อถาวร  เช่น  อ่างดินเผา   กะละมัง   ถัง   หรือตุ่มน้ำขนาดเล็ก   เพราะสะดวกกว่าการเพาะในบ่อ   ภาชนะดังกล่าวมักมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  30 - 40  เซนติเมตร  ใส่น้ำสะอาดลงในภาชนะที่เตรียมไว้ให้มีระดับสูงประมาณ 10 - 15  เซนติเมตร  จากนั้นใส่พันธุ์ไม้น้ำที่มีใบหรือลำต้นอยู่ผิวน้ำ   เช่น  จอก   ผักตบชวา   ผักบุ้ง   หรือผักกระเฉด  ลงไปบ้างเล็กน้อยเพื่อให้ปลาสร้างหวอดได้ง่าย  

                7.4 การปล่อยปลาลงบ่อเพาะ   เมื่อเทียบปลาไว้เรียบร้อยแล้วจึงปล่อยปลาทั้งคู่ลงบ่อเพาะที่เตรียมไว้   ต้องพยายามอย่าให้ปลาตื่นตกใจมากนัก   จากนั้นหาแผ่นวัสดุ  เช่น  กระดาษแข็ง   หรือแผ่นกระเบื้อง   ปิดบนภาชนะที่ใช้เพาะ   โดยปิดไว้ประมาณ  2  ใน  3  ของพื้นที่ปากภาชนะ   เพราะปลากัดมักชอบวางไข่ในบริเวณที่มืด   เนื่องจากต้องการความเงียบสงบ   วัสดุที่นำมาปิดจะสามารถช่วยบังแสงและกันลมไม่ให้หวอดของปลาแตก   เทคนิคที่สำคัญคือ   การปล่อยพ่อแม่ปลาควรปล่อยในตอนเย็น   เวลาประมาณ  17.00 - 18.00  .   เพราะโดยปกติแล้วเมื่อปล่อยพ่อแม่ปลารวมกัน   ปลาเพศผู้จะเกี้ยวพาราสีปลาเพศเมีย   โดยว่ายน้ำต้อนหน้าต้อนหลังอยู่ประมาณ  15  นาที   จากนั้นจะไล่กัดปลาเพศเมียจนปลาเพศเมียจะต้องหนีไปแอบซุกอยู่ตามพันธุ์ไม้น้ำ    แล้วปลาเพศผู้จะเริ่มหาที่ก่อหวอด   เมื่อก่อหวอดไปพักหนึ่งก็จะไปไล่กัดปลาเพศเมียอีก   ดังนั้นหากปล่อยปลาทั้งคู่ตั้งแต่เช้าปลาเพศเมียก็จะถูกกัดค่อนข้างบอบช้ำ   แต่ถ้าปล่อยใกล้ค่ำเมื่อปลาเพศผู้หาจุดสร้างรังได้ก็จะค่ำพอดี   ปลาเพศผู้จะไม่ไปรบกวนปลาเพศเมียอีก   แต่จะสร้างรังไปจนเรียบร้อย   รุ่งเช้าก็พร้อมจะผสมพันธุ์ได้
 
             7.5 การตรวจสอบการวางไข่ของปลา   ตามปกติแล้วถ้าปลามีการวางไข่   ก็มักจะวางไข่เสร็จก่อนเวลาประมาณ  10.00  .   ดังนั้นเมื่อปล่อยปลาลงบ่อเพาะแล้ว   เช้าวันต่อมาเวลาประมาณ  10.00  . จึงค่อยๆลองแง้มฝาปิดดู   ถ้าพบว่ามีไข่เม็ดเล็กๆสีขาวอยู่ที่หวอด   และมีพ่อปลาคอยเฝ้าอยู่   ส่วนแม่ปลาหนีไปซุกอยู่ด้านตรงข้ามกับหวอด   แสดงว่าปลาวางไข่เรียบร้อยแล้ว   ค่อยๆช้อนแม่ปลาออกไปเลี้ยงต่อไป   ปลาเพศผู้จะคอยดูแลรักษาไข่   โดยหมั่นเปลี่ยนฟองอากาศในหวอดและตกแต่งหวอดให้คงรูปอยู่เสมอ   นอกจากนั้นยังคอยเก็บกินไข่เสียด้วย

      8 การอนุบาลลูกปลากัด      
                ลูกปลาจะฟักออกจากไข่หมดทุกฟองในวันที่สองหลังจากวางไข่   พ่อปลาจะคอยดูแลลูกที่ว่ายน้ำแล้วจมไปก้นบ่อ   โดยจะไปอมลูกกลับมาไว้ที่หวอดเช่นเดิม   รอจนตอนเย็นของวันถัดไปจึงช้อนเอาพ่อปลาออก   ลูกปลาจะตกใจกระจายตัวออกจากหวอด   ส่วนใหญ่ลงไปก้นบ่อแต่เมื่อรอสักครู่ก็จะพุ่งตัวขึ้นมาเกาะอยู่ตามพันธุ์ไม้น้ำหรือผนังบ่อใกล้ผิวน้ำ   ในวันต่อมาถุงอาหารของลูกปลาจะหมดไป   ลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำเพื่อหากินอาหาร
                การอนุบาลลูกปลากัดจะเริ่มจากที่ลูกปลาเริ่มหากินอาหาร   ซึ่งการอนุบาลลูกปลากัดนี้จัดว่าเป็นงานที่ค่อนข้างยาก   เนื่องจากปลากัดเป็นปลากินเนื้อตามที่กล่าวมาแล้ว   ลูกปลาจึงต้องการอาหารที่มีชีวิต   แต่ปัญหาจะอยู่ที่ว่าลูกปลากัดเป็นลูกปลาที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก   ปากจะไม่ใหญ่พอที่จะจับกินอาร์ทีเมียหรือไรแดงได้   อาหารที่เหมาะสมจะใช้ให้ลูกปลากินในช่วงนี้คือไข่แดง   โดยใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ดมาต้มให้สุกแล้วแกะเอาเฉพาะไข่แดงไปเลี้ยงปลา   เนื่องจากลูกปลากัดจะต้องการจับกินอาหารมีชีวิตยังไม่สามารถกัดแทะอาหารได้   ดังนั้นต้องนำเอาไข่แดงที่จะใช้   เช่น  ลูกปลากัด  1  ครอกจะใช้ไข่แดงขนาดเท่าเม็ดถั่วดำต่อการให้  1  ครั้ง   ใส่ไข่แดงลงในกระชอนผ้า   แล้ววางกระชอนลงบนขันหรือแก้วที่ใส่น้ำไว้พอประมาณ   แล้วใช้นิ้วขยี้ไข่ในกระชอน   ไข่แดงก็จะละลายหรือกระจายตัวเป็นเม็ดเล็กๆผ่านผ้าออกไปในน้ำ   จากนั้นจึงใช้ช้อนตักแล้วค่อยๆรินลงบ่อปลาเพื่อให้อาหารมีการกระจายตัวทั่วบ่อ   ซึ่งจากการที่ได้ขยี้ไข่แดงผ่านผ้าจะทำให้ไข่แดงแตกตัวออกเป็นเม็ดขนาดเล็กมากและมีน้ำหนักค่อนข้างเบา   ดังนั้นจะมีการกระจายตัวได้ดีและจะค่อยๆจมตัวลง   ทำให้ลูกปลานึกว่าเป็นไรน้ำก็จะฮุบกินไข่แดงได้  
                สำหรับภาชนะที่ใช้ในการอนุบาล   ในช่วงแรกก็ควรยังเป็นภาชนะที่ใช้เพาะปลา  เพราะยังต้องการภาชนะขนาดเล็กอยู่   เนื่องจากการใช้ไข่แดงเป็นอาหารนั้น   ลูกปลาจะกินไข่แดงไม่หมด   เพราะไข่แดงส่วนใหญ่จะค่อยๆจมตัวตกตะกอนที่ก้นภาชนะ   และลูกปลาจะไม่ลงไปเก็บกินอีกเลย   ไข่แดงที่ตกตะกอนนี้ในวันต่อไปจะบูดเน่าเป็นเมือกอยู่รอบก้นภาชนะ   จึงจำเป็นต้องล้างบ่ออนุบาลหรือภาชนะที่ใช้อนุบาลทุกเช้า   ซึ่งกระทำได้ไม่ยาก  คือ   ใช้กระชอนวางลงในบ่ออนุบาลแล้วใช้ขันค่อยๆวิดน้ำออกจากในกระชอน   จะสามารถลดน้ำลงได้โดยลูกปลาไม่ติดออกมา   และเศษไข่ก็จะไม่ฟุ้งกระจายเพราะเป็นเมือกเกาะติดกับภาชนะ   ลดน้ำลงประมาณครึ่งภาชนะ   แล้วจึงยกภาชนะค่อยๆรินทั้งน้ำและลูกปลาลงภาชนะใหม่แล้วเติมน้ำ   จะเท่ากับเป็นการล้างบ่ออนุบาลและเติมน้ำใหม่ให้ลูกปลา   ทำเช่นนี้ประมาณ  3 - 5  วัน   ลูกปลาจะมีขนาดโตขึ้น   จะเปลี่ยนบ่ออนุบาลให้มีขนาดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น   อาจใช้กะละมังพลาสติกขนาดใหญ่หรืออ่างซีเมนต์   และควรอนุบาลต่อโดยใช้อาร์ทีเมียหรือไรแดงซึ่งลูกปลาจะจับกินได้แล้ว   เลี้ยงด้วยอาร์ทีเมียหรือไรแดงประมาณ  15 - 20  วันพร้อมทั้งถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ   ลูกปลาจะโตได้ขนาดประมาณ  1.0 - 1.5  เซนติเมตร   ก็จะเปลี่ยนลงบ่อบ่ออนุบาลให้มีขนาดใหญ่ขึ้นให้มีความจุมากกว่า  100  ลิตร   แล้วเริ่มฝึกให้ลูกปลากินอาหารสมทบ   โดยจะใช้ไข่ตุ๋น  คือนำไข่เป็ดหรือไข่ไก่มาตีให้ไข่ขาวและไข่แดงเข้ากันดี    ใส่เกลือและใส่น้ำพอประมาณเพื่อให้ไข่นุ่ม   จากนั้นนำไปนึ่งพอสุก   ไม่ควรนึ่งนานนักเพราะต้องการให้ไข่มีความนุ่ม   นำไปใส่ให้ปลากินโดยใช้นิ้วขยี้ไข่ให้แตกกระจายออกพอควร   และเริ่มให้มื้อเช้าแทนการให้ไร   ปลาจะเริ่มตอดกินได้เอง   เลี้ยงด้วยไข่ตุ๋นประมาณ  10  วันก็เปลี่ยนมาเป็นอาหารเม็ด   โดยช่วงแรกควรใช้อาหารปลาสวยงามชนิดเม็ดเล็กพิเศษ   ซึ่งค่อนข้างมีราคาแพงแต่ปลาจะกินได้ดี   จะใช้เพียง  3 - 5  วัน แล้วเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดเลี้ยงปลาดุกเล็ก   ลูกปลาก็จะสามารถตอดกินและเจริญเติบโตดี  ใช้เวลาอนุบาลลูกปลาประมาณ  50  วัน   ลูกปลาจะมีขนาดประมาณ  3  เซนติเมตร   ซึ่งพอจะ สามารถแยกเพศได้
   9 การเลี้ยงปลากัด       
                บ่อเลี้ยงปลากัดถ้าเป็นบ่อดินควรมีขนาด  10 - 30  ตารางเมตร   ถ้าเป็นบ่อซีเมนต์ควรมีขนาด  2 - 6  ตารางเมตร   มีความลึกประมาณ  50 - 60  เซนติเมตร   คัดแยกลูกปลาจากบ่ออนุบาลโดยคัดเอาเฉพาะปลาเพศผู้มาเลี้ยง   เนื่องจากปลาเพศผู้เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าและราคาสูงกว่าปลาเพศเมียมาก   ปล่อยเลี้ยงในอัตรา  150 - 200  ตัว ต่อเนื้อที่  1  ตารางเมตรสำหรับบ่อดิน   และอัตรา  100 - 150 ตัว ต่อเนื้อที่  1  ตารางเมตรสำหรับบ่อซีเมนต์   แล้วเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดลอยน้ำ   นอกจากนั้นควรใส่พรรณไม้น้ำพวกสาหร่าย   และสันตะวา   เพื่อป้องกันการทำอันตรายจากปลาด้วยกันเอง   ใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ  50 - 60  วัน   ปลาจะมีขนาดประมาณ  5  เซนติเมตร   สามารถคัดแยกใส่ขวดเพื่อรอจำหน่ายต่อไป

  10 การลำเลียงปลากัด      
                เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวก Labyrinth  Fish จึงค่อนข้างมีความอดทน  ทำให้สามารถลำเลียงในภาชนะขนาดเล็กๆไปเป็นระยะทางไกลๆเป็นเวลานานได้โดยไม่ต้องมีการอัดออกซิเจน  วิธีการที่นิยมมากที่สุด คือการลำเลียงโดยบรรจุในถุงพลาสติกขนาดเล็กๆโดยไม่ต้องอัดออกซิเจน  และใช้กระดาษห่อด้านนอกเพื่อให้ปลาสงบนิ่งทำให้ใช้พลังงานน้อยลง  หรือการใช้ภาชนะขนาดเล็กๆพอดีกับตัวปลา  ใส่น้ำพอท่วมตัวปลาโดยไม่ต้องปิดฝา  แล้ววางเรียงซ้อนกันในกล่องโฟมอีกทีหนึ่ง  ก็จะสามารถลำเลียงปลากัดได้คราวละจำนวนมากและเป็นระยะทางไกล  หรือลำเลียงแบบรวมในถุงพลาสติคขนาดใหญ่โดยใส่ปลาจำนวนมากในแต่ละถุง

     



ประวัติของปลาหางนกยูง  
                ปลาหางนกยูงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้   แถบ เวเนซูเอลล่า หมู่เกาะคาริเบียนของประเทศบาร์บาโดส และ ในแถบลุ่มน้ำอเมซอน ในธรรมชาติอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด และ น้ำกร่อยที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งจนถึงน้ำไหลเอื่อย ๆ เป็นปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปลากินยุง (Mosquito  Fish)   ซึ่งเป็นกลุ่มปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจ   ทำให้สามารถอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนน้อยๆได้ดี   ในระยะเริ่มแรกนิยมใช้ปลากลุ่มนี้ในการนำไปช่วยกำจัดยุงลาย   เนื่องจากมีคุณสมบัติที่พิเศษถึง  2  ประการ  คือ  ประการแรกมีความอดทน   เนื่องจากมีอวัยวะช่วยหายใจที่เรียก  Labyrinth  organ   ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำที่เริ่มเน่าเสียซึ่งมีปริมาณออกซิเจนต่ำได้  ประการที่สอง  คือ  มีความสามารถแพร่พันธุ์ขยายจำนวนเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว   ปลาหางนกยูงได้ถูกนำเข้าไปทดลองเลี้ยงในประเทศสหรัฐอเมริกา  เมื่อปี  .. 2451   และแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆในเขตร้อน   เพื่อใช้ปราบยุงลายช่วยลดปัญหาเรื่องการระบาดของไข้มาลาเรีย   โดยนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำขังต่างๆหรือแหล่งน้ำเสียที่มีตัวอ่อนของยุง  ที่เรียกกันว่าลูกน้ำอยู่มากโดยไม่มีปลาชนิดอื่นเข้าไปอาศัยอยู่ได้   เนื่องจากมีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ   แต่สำหรับปลาหางนกยูงหรือที่เรียกว่าปลากินยุง   จะสามารถใช้อวัยวะช่วยหายใจนำออกซิเจนจากอากาศมาใช้   จึงทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ นอกจากนั้นยังเป็นปลาที่ชอบกินลูกน้ำ  แล้วแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว   ทำให้สามารถควบคุมปริมาณลูกน้ำให้ลดลงได้   จึงเป็นการช่วยลดปริมาณยุงลงได้เป็นอย่างดี   หลังจากนั้นจึงเริ่มพัฒนามาเป็นการเลี้ยงเพื่อความสวยงาม   โดยนำปลาหางนกยูงที่มีความสวยงามจากประเทศเวเนซูเอลา      บาร์บาดาส    ทรินิแดด   บราซิล   และกิอานา   เข้าไปดำเนินการเพาะพันธุ์และมีการคัดพันธุ์จนได้ปลาหางนกยูงที่มีความสวยงามหลายสายพันธุ์             
                                                                                                                  
2 การจำแนกทางอนุกรมวิธาน                  
                Nelson (1984)   ได้จัดลำดับชั้นของปลาหางนกยูงไว้ดังนี้    
                    Class                       :  Osteichthyes
                       Order                   :  Cyprinodontiformes (Tooth-carps)
                          Suborder           :  Cyprinodontoidei
                             Family             :  Poeciliidae (Livebearers)
                                Subfamily    :  Poeciliinae
                                   Genus       :  Poecilia
                                      Specie    :  reticulata                          
                                                                                                                  
3 ลักษณะรูปร่างของปลาหางนกยูง                    
                ปลาหางนกยูงจัดว่าเป็นปลาสวยงามขนาดเล็ก   เมื่อโตเต็มที่ปลาตัวผู้มีขนาด 3 - 5 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียมีขนาด 5 - 7  เซนติเมตร   เป็นปลาที่มีสีสันสวยงามหลายสีแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์   โดยเฉพาะที่ส่วนหางจะมีความแตกต่างกันหลายรูปแบบ   และเฉพาะปลาเพศผู้จะมีครีบหางยาวและสีสันเด่นสะดุดตา  
4 สายพันธุ์ปลาหางนกยูง             
               ปลาหางนกยูงเป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมเพาะเลี้ยงกันมานาน และแพร่หลายไปแทบทุกประเทศในโลก  ประกอบกับเป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัวและสามารถผสมข้ามสายพันธุ์กันได้ง่ายมาก  ทำให้เกิดปลาสายพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมาเป็นจำนวนมาก  แต่ก็พอจะจัดกลุ่มของสายพันธุ์ปลาหางนกยูงได้เป็นดังนี้  คือ
                4.1 สายพันธุ์คอบร้า (Cobra)  มีลวดลายเป็นแถบยาวหรือสั้น พาดขวาง พาดตามยาว หรือ พบพาดเฉียงทั่วลำตัวตลอดถึงโคนหาง ลวดลาย คล้ายลายหนังงู  ครีบหางมีมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม (delta tail) รูปพัด (fan tail) หรือ หางบ่วง (lyre tail)  มีหลากหลายและหลากสี สอดคล้องกับลำตัว  มีชื่อเรียกตามสีที่แตกต่างกันไป  คือ  Red-tailed Tuxedo (Golden Type),  Black-tailed Tuxedo,  Blue-tailed Tuxedo,  Red-tailed King Cobra,   Yellow-tailed King Cobra,   Lace King Cobra 

                 4.2 สายพันธุ์ทักซิโด้ (Tuxedo)  ลักษณะครึ่งตัวด้านท้ายมีสีดำ หรือ สีน้ำเงินเข้ม  ครีบหางมีหลากหลายแบบ  ครีบหลังและครีบหางหนาใหญ่ มีสีและลวดลายเหมือนกัน  มีชื่อเรียกตามสีที่แตกต่างกันไป  คือ  German tuxedo (เยอรมัน)  Neon tuxedo (สันหลังสีขาว สะท้อนแสง)  Black tuxedo (ครีบหางสีดำ)  Golden tuxedo (ครีบหางสีส้ม)
     
               4.3 สายพันธุ์โมเสค (Mosaic)  พื้นลำตัวสีเทาอ่อน บริเวณด้านบนสีฟ้า หรือ เขียว อาจแซมด้วยสีแดง ชมพู หรือ ขาว  ครีบหางมีหลากหลาย  ครีบหลังขาวเรียบ หรือ ชมพูอ่อน หรืออาจมีจุด หรือ แต้มขนาดเล็ก  มีชื่อเรียกตามสีที่แตกต่างกันไป  คือ  Red-tailed Mosaic  Santamaria Mosaic  Blue-tailed Mosaic Ribbon  Swallow-tailed Mosaic
     
                    4.4 สายพันธุ์กร๊าซ (Grass)  ลำตัวมีหลากสี  ครีบหางมีจุด หรือแต้มเล็ก ๆ กระจาย แผ่ไปทั่งตามรัศมีของหางคล้ายดอกหญ้า  มีชื่อเรียกตามสีที่แตกต่างกันไป  คือ  Red Grass,  Blue Grass,  Yellow Grass,  Golden Yellow Grass 
     
                4.5 สายพันธุ์นกยูงหางดาบ (Sword tail)  ลำตัวมีสีเทา ฟ้า เขียว แดง ชมพู เหลือง คล้ายหางนกยูง พันธุ์พื้นเมือง อาจมีจุด หรือ ลวดลายบนลำตัว  ครีบหางเป็นแฉกคล้ายปลาดาบ อาจมีทั้งด้านบน หรือ ด้านล่าง หรือ ด้านใดด้านหนึ่ง  มีชื่อเรียกตามสีที่แตกต่างกันไป  คือ  Double sword (หางกรรไกร)  Top sword (หางดาบบน)  bottom sword (หางดาบล่าง)
                   
5 การจำแนกเพศของปลาหางนกยูง            
                ความแตกต่างลักษณะเพศของปลาหางนกยูง   สามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอกได้หลายประการ  คือ
                5.1 ขนาดของลำตัว   ปลาหางนกยูงเพศเมียมีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่และอ้วน   ส่วนปลาเพศผู้จะตัวเล็กเรียวยาว        
                5.2 ความยาวของครีบ   ปลาเพศผู้จะมีครีบหลังและครีบหางยาวกว่าปลาเพศเมียมาก  โดยเฉพาะครีบหางจะยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว   ส่วนปลาเพศเมียครีบหางจะสั้น
                5.3 สีของลำตัวและครีบ   ปลาเพศผู้จะมีลำตัวและครีบที่มีสีสันเข้ม   สด   และมีหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์   ส่วนปลาเพศเมียลำตัวมักจะไม่มีสีสัน   แต่อาจมีสีบ้างที่ครีบหาง
                5.4 อวัยวะสืบพันธุ์   ปลาเพศผู้จะมีอวัยวะสืบพันธุ์ลักษณะเป็นท่อยาวๆ   เรียกท่อส่งน้ำเชื้อ (Gonopodium)   ซึ่งเจริญมาจากครีบก้นและไปอยู่ใต้ครีบท้อง   ดังนั้นปลาเพศผู้จะไม่มีครีบก้น   แต่ปลาเพศเมียจะมีครีบก้นตามปกติ
                5.5 จุดดำท้ายส่วนท้อง   ปลาเพศเมียจะมีจุดหรือวงที่บริเวณท้ายของส่วนท้องซึ่งเป็นบริเวณที่มีผนังค่อนข้างบาง  ถ้าเป็นแม่ปลาที่มีไข่ค่อนข้างแก่จะสามารถสังเกตจุดสีดำซึ่งเป็นลูกตาของลูกปลาในไข่ปลาได้
      
6 การแพร่พันธุ์ของปลาหางนกยูง                   
                ตามปกติปลาหางนกยูงจะสามารถแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนในบ่อเลี้ยงได้เป็นอย่างดี   โดยเฉพาะบ่อเลี้ยงที่มีพรรณไม้น้ำอยู่มาก   ทั้งนี้เนื่องจากปลาหางนกยูงเป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว   และสามารถแพร่พันธุ์ได้ดีเกือบตลอดปี   เมื่อปลาเติบโตเจริญวัยถึงขั้นสมบูรณ์เพศ   ปลาเพศผู้ก็จะเข้าผสมพันธุ์กับปลาเพศเมีย   โดยยื่นท่อส่งน้ำเชื้อเข้าไปทางช่องสืบพันธุ์ของเพศเมีย   แล้วปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปผสมกับไข่ในท้องของปลาเพศเมีย   ซึ่งเป็นการผสมพันธุ์ภายใน   จากนั้นไข่ก็จะมีการพัฒนาต่อไป   จนฟักออกเป็นตัวก็จะถูกปล่อยหรือคลอดออกจากแม่ปลา   ลูกปลาที่คลอดออกมาใหม่ๆจะมีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่   เมื่อเทียบกับลูกปลาที่ฟักออกจากไข่ที่เกิดจากการผสมภายนอก   และยังค่อนข้างมีความแข็งแรง   คือสามารถว่ายน้ำอย่างรวดเร็วเพื่อหาที่หลบซ่อน   มิฉะนั้นจะถูกแม่ปลาหรือปลาตัวอื่นจับกินเป็นอาหาร   ผู้เลี้ยงปลาหางนกยูงทั่วไปจึงสามารถพบลูกปลาเกิดขึ้นในบ่อเลี้ยงได้  
  
                    การเจริญเติบโตของปลาหางนกยูงจากเล็กจนโตเต็มวัย จะใช้เวลาประมาณ  2 - 3  เดือน  ปลาเพศเมียจะให้ลูกได้ครอกละประมาณ  30 - 90  ตัว   ขึ้นกับขนาดของปลา   คือ  ในช่วงแรกๆแม่ปลายังโตไม่เต็มที่จะให้ลูกครอกละประมาณ  30 - 40  ตัว   เมื่ออายุมากขึ้นขนาดใหญ่ขึ้นจะให้ลูกครอกละประมาณ  40 - 60  ตัว   และเมื่ออายุมากกว่า  1  ปี  จะให้ลูกครอกละประมาณ      50 - 90  ตัว   และหลังจากที่คลอดลูกแล้ว   จะสามารถให้ลูกครอกต่อไปได้อีกในเวลาประมาณ    25 - 35  วัน   แล้วแต่ขนาดของปลา   การถ่ายน้ำ   และอาหารที่ได้รับ   คือแม่ปลาขนาดเล็กจะให้ลูกครอกต่อไปเร็ว   การเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆก็ช่วยให้มีการตั้งท้องและตกลูกเร็วขึ้น   นอกจากนั้นการเลือกใช้อาหารที่ดี   และให้อาหารสม่ำเสมอก็ช่วยให้ปลาตกลูกเร็วขึ้นเช่นกัน
                                                                                                                 
7 การเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง  
                ถึงแม้ว่าปลาหางนกยูงจะแพร่พันธุ์ง่าย   และมีลูกปลาเกิดขึ้นได้ในบ่อเลี้ยงอยู่เสมอ   แต่ถ้าปล่อยให้แม่ปลาคลอดลูกเองภายในบ่อเลี้ยง   ในช่วงแรกลูกปลาอาจมีอัตรารอดสูง   แต่เมื่อมีจำนวนปลามากขึ้น   ลูกปลาในครอกต่อๆไปก็จะมีโอกาสรอดน้อยมาก   เพราะจะถูกปลาตัวอื่นๆไล่จับกิน   จากการทดลองพบว่าหากไม่มีการใส่พันธุ์ไม้น้ำ   หรือให้ที่หลบซ่อนสำหรับลูกปลาที่จะคลอดออกมา   ในบ่อเลี้ยงปลาหางนกยูงที่มีพ่อแม่ปลาอยู่หลายคู่   ลูกปลาจะมีโอกาสรอดน้อยมาก   ยิ่งถ้านำมาเลี้ยงในบ่อขนาดเล็กหรือภาชนะแคบๆ   ลูกปลาจะถูกไล่กินจนหมด   ถ้าเป็นบ่อขนาดใหญ่ลูกปลาจึงจะมีโอกาสรอดได้บ้าง   โดยจะเหลือรอดครอกละประมาณ  10 - 20  ตัว   ขึ้นกับจำนวนปลาที่มีอยู่ในบ่อ   ดังนั้นผู้ที่ต้องการดำเนินการเพาะปลาหางนกยูงเพื่อจำหน่ายอย่างจริงจัง   จำเป็นต้องมีการจัดการการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูงที่ดี   ซึงดำเนินการได้หลายวิธีการ ดังนี้
                7.1 แยกเพาะในบ่อเพาะขนาดเล็ก   ใช้บ่อหรือภาชนะขนาดเล็กพื้นที่ประมาณ  1  ตารางฟุต   แยกเลี้ยงปลาบ่อละ  1  คู่   ไม่ควรเลี้ยงปลาเกิน  1  คู่  เพราะปลาเพศเมียจะค่อนข้างมีความดุร้าย   ในการไล่ล่าลูกปลาที่พึ่งคลอดจากแม่ปลาตัวอื่น   ใส่พันธุ์ไม้น้ำพวกสาหร่ายหรือจอกที่มีรากยาวๆลงในบ่อเพาะ   เพื่อเป็นที่หลบซ่อนของลูกปลา  เพราะเมื่อลูกปลาคลอดออกมาก็จะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ตามสาหร่ายหรือรากของจอก   ช่วยให้รอดพ้นจากการถูกแม่ปลาจับกินได้   เป็นวิธีการเพาะที่ใช้ได้ผลดี   และจะสามารถคัดปลาหางนกยูงทั้งเพศผู้และเพศเมียที่มีลักษณะดีตามที่ต้องการมาผสมกันได้   จากนั้นคอยหมั่นแยกลูกปลาที่ได้ออกไปอนุบาล   ข้อเสียของวิธีนี้คือ  ต้องใช้พื้นที่มาก   และค่อนข้างใช้เวลาในการดูแล
                7.2 แยกเฉพาะแม่ปลาที่ท้องแก่ใกล้คลอดมาจากบ่อเลี้ยง   เป็นวิธีการที่เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูงจำนวนมากไว้ในบ่อเลี้ยง   แล้วหมั่นสังเกตหาปลาที่มีท้องแก่   จากนั้นจึงแยกเฉพาะแม่ปลาที่มีท้องแก่   คือมีท้องขยายใหญ่มากออกมาเพียงตัวเดียว   นำไปใส่ในภาชนะเล็กๆที่มีช่องตาให้ลูกปลาลอดออกไปได้   คล้ายกับเป็นห้องรอคลอดซึ่งมีผลิตออกมาจำหน่ายโดยเฉพาะ   แต่ค่อนข้างจะมีราคาแพง   ซึ่งอาจใช้ภาชนะอื่นทดแทนได้ เช่น ใช้ตะกร้าแขวนสำหรับใส่แปรงสีฟันในห้องน้ำ   โดยมักจะแขวนภาชนะนั้นจำนวนหลายอัน   ไว้ในตู้กระจกหรือในกะละมังใบเดียวกัน   แม่ปลาที่ถูกคัดออกมามักจะคลอดลูกภายใน 1 - 3  วัน   ยิ่งเมื่อดำเนินการไปนานๆ   แม่ปลาจะมีความเคยชิน   ก็มักจะคลอดลูกภายใน  1  วัน  หลังจากที่แยกมาปล่อยลงในที่สำหรับคลอด   ลูกปลาจะลอดช่องตาของภาชนะออกไปรวมกันในตู้หรือกะละมัง   แยกลูกปลาไปอนุบาลแล้วนำแม่ปลาไปเลี้ยงพักฟื้น  3  วันจึงปล่อยกลับลงบ่อเลี้ยง   จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีการที่ให้ผลดีที่สุด   เพราะลูกปลามีอัตราการรอดมากที่สุดและทำได้ค่อนข้างสะดวก   แต่อาจไม่เหมาะสมที่จะใช้กับฟาร์มผลิตขนาดใหญ่
                7.3 แยกเลี้ยงในภาชนะที่มีช่องตาขนาดที่ลูกปลาจะรอดออกไปได้   เป็นวิธีการที่คัดแยกพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูงจำนวนมากมาเลี้ยงในภาชนะที่มีช่องตาขนาดที่ลูกปลาจะรอดออกไปได้  แต่พ่อแม่ปลาจะไม่สามารถรอดออกไปได้   เป็นภาชนะขนาดปานกลาง   เช่น  กระชัง  ตะกร้า   หรือกระจาด   ซึ่งจะนำไปกางหรือวางในภาชนะหรือบ่ออีกทีหนึ่ง   กระชัง ตะกร้า หรือกระจาดนี้จะใช้เลี้ยงปลาได้ใบละ  5 - 7  คู่   ไปจนถึง 50 คู่ เมื่อแม่ปลาคลอด   ลูกปลาจะสามารถว่ายหนีผ่านช่องตะกร้าออกไปสู่ภายนอก   เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีเช่นกัน   ปลาที่เลี้ยงอยู่ในตะกร้าแต่ละใบจะให้ลูกสัปดาห์ละ  1  ครอกเป็นอย่างน้อย   ก็แยกลูกปลาออกไปอนุบาลได้   เป็นวิธีที่นิยมกระทำกันมากในฟาร์มที่ผลิตลูกปลาหางนกยูงเพื่อจำหน่าย  โดยใช้ตะแกรงพลาสติกทำเป็นกระชังขนาดประมาณ 0.5 - 1 ตารางเมตรวางในบ่อซิเมนต์  ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูงลงในกระชัง 20 - 30 คู่  ลูกปลาที่คลอดออกมาจะว่ายหนีออกจากกระชังได้ดี  ทำให้สามารถผลิลูกปลาได้ค่อนข้างมาก  ข้อเสียของวิธีนี้  คือ เศษอาหารมักจะลงไปตกค้างอยู่ก้นภาชนะมาก   ทำให้ปลาติดเชื้อได้ง่าย   ต้องหมั่นทำความสะอาด
8 การอนุบาลลูกปลาหางนกยูง                  
                ลูกปลาที่แยกออกมาจากบ่อเพาะหรือแม่ปลาที่คลอดแล้ว   นำมาเลี้ยงในภาชนะหรือบ่อขนาดปานกลาง   มีความจุประมาณ  30 - 100  ลิตร   ขึ้นกับจำนวนลูกปลา   แล้วเลี้ยงด้วยอาหารผง (อาหารอนุบาลลูกปลาดุก)โดยให้บริเวณผิวน้ำ   ลูกปลาจะสามารถกินอาหารผงได้เป็นอย่างดี   เพราะปลาหางนกยูงเป็นปลาที่กินอาหารได้ง่าย   หมั่นทำความสะอาดก้นบ่อและถ่ายน้ำเสมอๆเช่นเดียวกับบ่ออนุบาลลูกปลาทอง   เพื่อเร่งให้ลูกปลาเจริญเติบโตเร็ว   จะเลี้ยงด้วยอาหารผงประมาณ  15  วัน   ลูกปลาจะมีขนาดโตขึ้นจนสามารถนำไปปล่อยเลี้ยงรวมกับปลาขนาดใหญ่ในบ่อเลี้ยงได้อย่างปลอดภัย
                                                                                                                   
9  การเลี้ยงปลาหางนกยูง                
                การเลี้ยงปลาหางนกยูงนับเป็นเรื่องง่ายมาก   ปลาหางนกยูงจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อ   หากผู้เลี้ยงหมั่นทำความสะอาดบ่อเลี้ยง   ไล่เศษอาหารที่ตกค้างออกจากบ่ออย่างสม่ำเสมอ   ซึ่งอาจกระทำทุก  2 - 3  วัน ต่อครั้งก็เป็นการเพียงพอ   สำหรับผู้เลี้ยงทั่วไปที่เลี้ยงปลาสวยงามเป็นงานอดิเรก   ควรใช้อาหารปลาสวยงามที่จำหน่ายตามร้านขายปลาสวยงาม   โดยไม่จำเป็นต้องเลือกอาหารเฉพาะเจาะจง   ซึ่งจะมีราคาไม่แพงมากนักก็จะใช้เลี้ยงปลาได้ดี   เพราะปลาหางนกยูงกินอาหารได้ง่ายและเจริญเติบโตได้ดี   โดยควรให้อาหารวันละ  2  ครั้ง  ในตอนเช้าและเย็น   ส่วนผู้ที่เลี้ยงปลาหางนกยูงเพื่อเพาะพันธุ์ปลาออกจำหน่าย   จำเป็นต้องเลี้ยงปลาเป็นจำนวนมาก   จะต้องพยายามลดต้นทุนการผลิต   อาจเลือกใช้อาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยงปลาดุกเล็ก   ซึ่งมีราคาถูกและมีธาตุอาหารครบถ้วน   นำมาใช้สำหรับเลี้ยงปลาก็จะทำให้ปลาเจริญเติบโตได้อย่างดี   จะใช้เวลาเลี้ยงปลาประมาณ  45 - 60  วันก็สามารถส่งจำหน่ายได้
                                                                                                                 
10 ปัญหาการเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง      
                ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง  คือ  ลูกปลาที่ได้มามีลักษณะไม่ตรงตามต้องการ   หรือมีลักษณะไม่เหมือนกับพ่อแม่พันธุ์ที่ใช้เพาะ   แต่มักจะมีลักษณะด้อยกว่าพ่อแม่ปลา   คือมีความสวยงามไม่เท่าพ่อแม่พันธุ์   ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ  คือ
                10.1 พ่อแม่พันธุ์ที่นำมาใช้เพาะอาจเป็นปลาครอกเดียวกัน   การนำปลาเลือดชิดมาผสมกัน   ลูกปลาที่ได้จะแสดงลักษณะด้อยออกมามากขึ้น   จึงทำให้ลูกปลามีลักษณะไม่สวยงามเท่าพ่อแม่พันธุ์
                10.2 ปลาเพศเมียที่คัดแยกมาเพาะอาจได้รับน้ำเชื้อจากปลาเพศผู้ตัวอื่นมาแล้ว   เพราะในขณะที่ปลาตั้งท้อง   ถึงแม้ว่าปลาจะได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้แล้ว   แต่ปลาเพศผู้ตัวอื่นๆก็จะมาผสมกับแม่ปลาไปเรื่อยๆ   น้ำเชื้อที่ถูกส่งเข้ามาในรังไข่ใหม่นี้จะตกค้างและมีชีวิตอยู่ได้นาน   เมื่อปลาคลอดลูกออกไปแล้ว   ไข่ที่เจริญมาใหม่ก็จะถูกผสมโดยน้ำเชื้อที่ตกค้างอยู่เหล่านี้   ทำให้แม่ปลาดังกล่าวไม่ได้รับการผสมกับปลาเพศผู้ที่คัดมา   ดังนั้นเมื่อแม่ปลาคลอดลูกแล้วอาจต้องเลี้ยงแยกไว้   ปล่อยให้คลอดลูกอีกครอกซะก่อน   จึงค่อยนำไปผสมกับปลาเพศผู้ที่คัดไว้
                   10.3 ขาดการดูแล   ลูกปลาที่เกิดขึ้นได้รับการดูแลเอาใจใส่ไม่ดีพอ   อาจได้รับอาหารไม่สมบูรณ์หรือไม่เพียงพอ   ก็จะทำให้ปลามีความแคระแกรนรูปทรงไม่สวยงามได้
                                                                                                                                                                                           
11 ชนิดปลาที่ดำเนินการเพาะพันธุ์เช่นเดียวกับปลาหางนกยูง  
                มีปลาสวยงามอีกหลายชนิด   ที่สามารถดำเนินการเพาะพันธุ์เช่นเดียวกับการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูงทุกประการ   เนื่องจากเป็นกลุ่มปลาขนาดเล็กและเป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัวเช่นกัน   ได้แก่  ปลาสอด   ปลาหางดาบ   ปลาเซลฟิน   ปลาบอลลูน  และปลาเข็ม   โดยอาจเพิ่มความระมัดระวังเรื่องการกระโดดของปลาออกจากภาชนะ   เนื่องจากปลาเหล่านี้จะมีขนาดใหญ่กว่าปลาหางนกยูงเล็กน้อย   และชอบกระโดดมากกว่าปลาหางนกยูง   ดังนั้นภาชนะที่ใช้คัดแยกพ่อแม่ปลาออกมาเลี้ยง   หรือคัดแม่ปลาออกมารอคลอด   ควรมีขนาดใหญ่และสูงกว่าที่ใช้กับปลาหางนกยูง   หรืออาจทำฝาปิดก็ได้





        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น