บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

การเลี้ยงปลาบึก

การเลี้ยงปลาบึก
               ปลาบึก” เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีความอร่อยของเนื้อปลาที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้บริโภคนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญคือขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดทำการเพาะเลี้ยงปลาบึกซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นปลาธรรมชาติจากลุ่มน้ำโขงได้เหมือนอย่างไทย  ดังนั้นจึงนับเป็นจุดแข็งที่เกษตรกรไทยสามารถยึดเป็นแนวทางในการเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออกต่อไป

 การเพาะเลี้ยงปลาบึกแบบมืออาชีพ เริ่มจากการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบึก โดยปกติจะปล่อยปลา 100 ตัว/ไร่ ให้อาหารอัตรา 2% ปริมาณโปรตีนรวม 30% ผสมสาหร่าย 5% บ่อที่เลี้ยงควรมีขนาดใหญ่และมีความลึกกว่าบ่อเลี้ยงปลาเนื้อธรรมดาคือขนาด 5-20 ไร่ ความลึก 2-3 เมตร มีระบบท่อส่งน้ำและระบายน้ำเพื่อรักษาคุณภาพของน้ำช่วยให้ปลาบึกเจริญเติบโตและเจริญพันธุ์ได้ดี
การผสมเทียมปลาบึกเพศผู้และเพศเมียที่เลี้ยงในบ่อดิน สามารถผสมเทียมได้ด้วยฮอร์โมน แต่ต้องมีอายุมากกว่า 5-10 ปี และต้องอยู่ในช่วงฤดูวางไข่ (ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมของทุกปีจึงจะเหมาะสม)

       การทำน้ำเชื้อแช่แข็งเป็นการผสมเทียมที่สามารถลดปัญหาการขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งถ้าน้ำเชื้อมีความสมบูรณ์และเก็บรักษาอย่างถูกวิธีก็สามารถเก็บไว้ได้นาน
สำหรับการอนุบาลและเลี้ยงปลาบึกหลังฟักเป็นตัวจนถึงอายุ 1-3 วัน ให้ไรแดงผสมไข่แดงต้มสุกเป็นอาหาร หลังจากนั้นจึงให้ไรแดงมีชีวิตเป็นอาหาร  อนุบาลปลาในบ่อซีเมนต์ พอเริ่มเข้าวันที่ 7 ควรย้ายลูกปลาลงบ่อดินขนาด 100 ตารางเมตร การให้อาหารวันแรกให้ไรแดงมีชีวิต วันต่อมาให้ปลาป่นและรำละเอียดสาดทั้งบ่อ เมื่อปลาอายุ 17-18 วัน ให้อาหารปลาดุกเล็กผสมลูกไรแดง จนปลาอายุ 30 วันให้ปลาดุกขนาดเล็กจนถึงอายุ 60 วัน จะได้ลูกปลาขนาด 3-5 นิ้ว ถ้าต้องการปลาขนาดใหญ่ควรย้ายไปบ่อขนาด 1-2 ไร่ และปล่อยได้ 5 ตัว/ตร.ม. จะได้ลูกปลาขนาด 500-1,000 กรัม
การผลิตอาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงปลาบึก ส่วนผสมคือปลายข้าว กากถั่วเหลือง รำ ปลาป่น และสาหร่ายสไปรูลิน่าประมาณ 5% เป็นส่วนผสมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในการผลิตอาหารเอง และเป็นการประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้มาก
             
               การเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่า เป็นแหล่งอาหารที่อุดมด้วยโปรตีนที่มีปริมาณสูงถึงร้อยละ 50-70 ของน้ำหนักแห้ง ซึ่งจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตและการเจริญพันธุ์ของปลาบึกได้ดี สาหร่าย Chlorella sp. เป็นสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็กที่มีโปรตีนสูง ใช้ในการเลี้ยงไรแดงเพื่ออนุบาลลูกปลาบึกระยะแรก จากนั้นก็นำไรแดงที่เพาะเลี้ยงมาเป็นอาหารเพื่อการอนุบาลลูกปลาบึกวัยอ่อน ทำให้อัตราการรอดและอัตราการเจริญเติบโตของปลาบึกวัยอ่อนสูงมาก ไรแดงน้ำหนักแห้งประกอบด้วยโปรตีน 74.09% คาร์โบไฮเดรต 12.50% ไขมัน 10.19% และเถ้า 3.47%
ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เมนูปลาบึกมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น ก๋วยเตี๋ยวปลา ลวกจิ้ม ห่อหมก ทอดมัน และสเต็กปลาบึก ซึ่งบางท่านบอกว่าอร่อยกว่าปลาแซลมอนที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศในราคาสูงมากอย่างที่พบในท้องตลาด จึงอยากส่งเสริมให้ท่านที่สนใจมาเข้าร่วมเรียนรู้เคล็ดลับและเทคนิคในการเลี้ยงปลาบึกแบบมืออาชีพ ท่านที่สนใจสอบถามรายละเอียดหรือหากต้องการติดต่อซื้อพันธุ์ปลาบึกได้ที่ คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 0- 5387-3470-2

          การเลี้ยงปลาบึกในบ่อดิน จะต้องทำอย่างไร?
         
         เราเน้นให้มีบ่อขนาดใหญ่ๆ เปรียบเหมือนเรือเกลือเวลาแล่นจะช้า แต่พอชนหนักหมายถึงเวลาเราจับปลาครั้งหนึ่งก็ได้เป็นจำนวนมากๆ เพราะหากทำน้อยไป เวลาจับก็ได้น้อย รู้สึกเสียดายว่า ทำไม เวลาปล่อยไม่ปล่อยให้มากๆ ซึ่งการเลี้ยงปลาในบ่อใหญ่มีข้อดีหลายๆ อย่าง ยกตัวอย่างในทะเลไม่มีคนเลี้ยง มีแต่ชาวประมงจับกันเต็มไปหมด และไม่มีการให้อาหารกัน เพราะว่าอุณหภูมิแร่ธาตุต่างๆ มันพร้อม ดังนั้น การเลี้ยงปลาในบ่อใหญ่ๆ จึงเหมาะสมกว่า เพราะมันมีลมพัด คลื่นมันดี ทำให้น้ำไม่ค่อยเสีย แม้ว่าอาหารการกินถึงจะน้อยหน่อยก็ไม่เป็นไร มันก็ยังเจริญเติบโตดีอยู่
ถาม – ข้างๆ บ่อเลี้ยงปลาส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านจัดสรร ถ้าสูบน้ำในบ่อออกหมด เพื่อจับปลาจะทำให้ทางหมู่บ้านจัดสรรเสียหายได้ อันนี้เป็นแนวคิดของเฮียหรือเปล่าที่เลี้ยงปลาโดยไม่มีการถ่ายน้ำ และมันโยงไปถึงเส้นทางที่เข้ามายังบ่อที่ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อเพราะเหตุ อะไร
คุณเม่งฉ่อง ตอบ เดิมเป็นที่ดินว่างเปล่า ไม่มีใครคิดจะทำอะไร ผมเลยถือโอกาสเข้ามาบุกเบิกโดยการเช่าจากนายทุน เพราะว่าไม่มีเงินซื้อ ส่วนถนนที่ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ เพราะว่าเวลาเจ้าของที่เขามาเยี่ยมเยียน เขาจะได้รู้ว่าเราลำบาก จึงต้องทำเหมือนคมในฝักหรือถ่อมตัวสักหน่อย ถ้าเขาถามว่า ดีไหม? เราต้องบอกว่าดีไม่ได้ เดี๋ยวค่าเช่าจะขึ้น ซึ่งเราก็ต้องคืนเขา ทำสัญญากันไว้ทุกๆ ปี และเราต้องง้อเขา เพราะเราไม่มีที่ทำกิน ครั้นจะไปซื้อก็ไม่มีเงิน ก็เลยเป็นเหตุผลที่ต้องทำถนนในลักษณะแบบนี้
        
        ขนาดของบ่อ ขั้นต่ำควรเท่าไร?
         มันขึ้นอยู่กับเนื้อที่ของเราที่มีอยู่ ถ้าหากมีเนื้อที่สัก 50 ไร่ ไปทำเป็นบ่อสัก 25 ไร่ ก็ต้องดูงบประมาณ ถ้ามีเนื้อที่ 50 ไร่ ขุด 3 บ่อ ศัตรูก็เยอะขึ้น ศัตรูคืออะไร ถ้าเราบ่อเดียวไม่มีนกลง แต่ถ้าเราทำหลายบ่อก็เท่ากับว่าทำสะพานให้ลง มันก็เกาะได้ทั่วเลย กลางวันไม่ค่อยมีหรอก แต่พอเย็นหรือกลางคืนจะมากันมาก เขาถึงได้พูดกันว่า “เล็กก็นก ใหญ่ก็คน” ก็หมายถึงว่า ตอนปลาตัวเล็ก นกก็ขโมยกิน พอปลาตัวใหญ่ คนก็มาขโมยจับ
       
               ถ้ามีบ่อเล็ก ขนาด 2-3 ไร่ อยู่แล้ว จำเป็นที่จะต้องขุดบ่อให้ใหญ่ ขนาด 30-40 ไร่ หรือไม่?
เห็นว่าไม่จำเป็นต้องไปลงทุนอะไร เพราะหากมีเนื้อที่เดิมอยู่แล้วก็ควรใช้ไปก่อน เพียงแต่ให้ไปพัฒนา ล้างบ่อทำความสะอาด ทำน้ำให้มันดี เอาขี้ไก่ ขี้วัว ใส่ลงไป ให้มันมีก้นตะกอน
           
              ความลึกขั้นต่ำของบ่อ ควรสักเท่าไร?
ยิ่งลึกยิ่งดี เพราะปลาพวกนี้นิสัยไม่ซุกซน พอกินเสร็จแล้วก็จะกบดาน

             บ่อตื้นที่สุด ควรเท่าไร?
 ถ้าเป็นบ่อตื้นต้องเป็นปลาที่มีขนาดเล็กเท่านั้น พอตัวใหญ่ก็ต้องขยายบ่อให้เขา แล้วบ่อที่ดีควรเป็นหลุมเป็นบ่อ คุณลองดูในตู้ปลาสวยงามซิ เขาจะจัดให้มีหินวางเป็นจุดๆ เพื่อให้ปลาเข้าไปซุก

 กรณีศัตรูปลา มีนก และคน แล้วยังมีอะไรเพิ่มเติมอีกมั้ย?
 สำหรับนกถ้าเราทำคันบ่อไว้มาก ก็เหมือนกับทำสะพานให้มันเกาะ ถ้าไม่มีคันและเป็นบ่อขนาดใหญ่ๆ นกก็ไม่สามารถจิกปลากินได้ มันก็ได้แต่เกาะอยู่ริมๆ บ่อ แต่ถ้าเป็นบ่อเล็ก คุณใช้สายเอ็น โดยใช้ไม้ปักรอบๆ แล้วดึงสายเอ็นไปโยงกัน อย่าให้ยาวมาก และอย่าให้เอ็นเส้นใหญ่ เอาขนาดที่ใช้ตกปลา เพราะถ้าไม่อย่างนั้นจะตกท้องช้าง พอนกมาจับก็จะตีลังกาพันขา พันปีก และให้ระยะห่างของเสา ประมาณ 2 เมตร

กรณีอย่างนี้ใช้เฉพาะกับบ่ออนุบาลหรือไม่?
บ่ออนุบาลหรือบ่อจริงก็ได้ แต่ระหว่างที่ปล่อยบ่อจริง เราต้องใส่ปลาเล็กก่อน บ่อไหนใส่ปลาเล็กก่อน นกจะขโมยกิน เราต้องรีบขึงเอ็น

กรณีของเฮียต้องจ้างคนไว้คอยดูแลตอนกลางคืนหรือไม่?
ไม่จำเป็นต้องใช้คนทำรั้ว อย่าใช้กำแพงคน เราไม่ได้จับปลาทุกวัน เราต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน เปรียบเหมือนว่าอย่าไปเห็นคนสุพรรณฯ ดีกว่าคนใกล้กัน บางทีอยู่ทาวน์เฮ้าส์มีอะไรก็ต้องแบ่งกัน เขาบอกว่าแกงถ้วยนี้ น้ำชาถ้วยนี้กินไม่รู้จักหมด เพราะเราไปให้เขาไว้ เวลาเขามีเขาก็ทำกลับมาให้เรา ก็มีบ้างตอนกลางคืน เราก็ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยส่องให้เห็นเป็นแสงและดูเหมือนคนบ้าง พอเวลาเช้าเราก็ไปเก็บ

 มีบ้างไหม ที่บ่อเชื่อมกับบ่อของคนอื่นแล้วปลาหลุดเข้าไป?
 เราต้องหาทางแก้ไข โดยอย่าทำให้ปลาหลุดออกไป ถ้าลึกมากเราก็อย่าใช้ตาข่ายห่าง ให้ใช้มุ้งเขียว แล้วมาต่อผนึกกันหลายๆ อัน แล้วข้างล่างพื้นดินต้องใช้ไม้ตีไว้ให้แน่น เขาเรียกไม้ตะขอ ตัดเป็นกิ่งแล้วกดลงไปห่างๆ แล้วเอาทรายหรือดินใส่กระสอบปุ๋ยไปทับไว้อีกชั้นหนึ่ง แล้วมันไม่หนีไปไหน เพราะมุ้งเขียวมันถี่และมันเหนียว เวลาอยู่ในน้ำ เพราะถ้าใช้อวนมันจะขาดง่ายและขาดเร็ว เวลาโดนมีดของใครที่มันเข้ามาขโมย

ตอนกลางคืนมีคนแอบตกปลาบ้างไหม?
 มีอยู่แล้ว คือต้องเข้าใจก่อนว่าการที่เขาเข้ามาขโมยตกปลา ส่วนเราก็เลี้ยงปลา ไม่ใช่ปลูกมะม่วง ละมุด หรือผลไม้ เขามาขโมยตกปลา ปลาทุกตัวมันต้องช่วยเหลือตัวเอง มันมีหาง กว่าจะตกได้สักตัวมันต้องใช้เวลานาน พอเจ้าของมาเห็นมันก็เผ่นไปแล้ว ไม่เหมือนกับการปลูกผลไม้เป็นลูกๆ พอมันมาขโมยก็บิดใส่ถุงได้ง่าย เพราะมันไม่มีหาง เคยมีก่อนนี้เขาเหวี่ยงเบ็ดเข้ามา ผมก็เอาเชือกขึงใต้น้ำให้ลึกสัก 50 เซนติเมตร เขาอยู่บนบ้านแล้วเหวี่ยงเบ็ดเข้ามา พอเบ็ดติดเชือกที่ผูกไว้มันก็หมุนๆ พอเขาหันไป หันมา เห็นว่าเบ็ดติดก็ปีนรั้วเข้ามาจะมาปลดเบ็ด แล้วเจ้าของเห็นพอดีก็เลยเผ่น ถ้าเชือกตรงนั้นมันไม่ช่วยเรา มันก็เร็วขึ้น มันคงได้ไปแล้ว เรามองไม่เห็น ดังนั้น จึงต้องขึงเชือกไว้ใต้น้ำเส้นหนึ่ง เวลามันเหวี่ยงเบ็ดเข้ามามันจะติดเชือกแล้วหมุนมันจะลำบาก

ทำอย่างไร เขาถึงจะเข็ดแล้วไม่กลับมาทำอีก?
 บางครั้งก็ต้องแจ้งตำรวจ อย่างกรณีที่สายไหม-วัชรพล มีบ่อเกือบ 100 ไร่ ก็มีพวกก่อสร้าง ซึ่งพวกนี้สำคัญ แต่เห็นว่าคงเอาไปได้ แต่ไม่รู้หรอก เขาไม่สนใจชื่อเสียงว่าจะเสียหรือดี เพราะเดี๋ยวก็ไปแล้ว ไม่เหมือนข้างบ้านเราเขาไม่กล้าทำเพราะเดี๋ยวมองหน้ากันไม่ติด การทำบ่อทุกที่ต้องมีคนเฝ้าคนที่สนิท ญาติหรือหลานที่เราไว้ใจได้

ต้องมียามคอยตระเวนหรือไม่? และจำเป็นต้องเป็นยามอาชีพด้วยหรือไม่?
กลางคืนผมจะจัดให้มีคนคอยเดินดูอยู่ตลอดเวลา และมีรถมอเตอร์ไซค์คอยขับไปดูตามที่ต่างๆ ส่วนยามอาชีพเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะไม่มีค่ามากมายถึงขนาดที่จะต้องจ้างคนมีฝีมือมาเฝ้า

เรื่องตัวเงินตัวทอง มีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร?
ถ้ามีปลาตายในบ่อแล้วเรารู้ว่าบริเวณนั้นมีตัวเงินตัวทองก็จะต้องตักปลาที่ ตายไปทิ้งเสีย อย่าให้มันกิน หรือวิธีป้องกันก็นำไส้ไก่หรือหัวไก่ผสมแลนเนทผงๆ ให้ใส่ไปในปากไก่ หรือเอาหลอดดูดจุ่มๆ แล้วหยอดลงไปในไส้ไก่ แล้วผูกไส้ไก่ข้างล่างไว้หน่อย ไปปักในน้ำให้สูงประมาณคืบกว่าๆ พาดบนหัวไม้ไว้สัก 2-3 อัน อย่าไปไว้บนที่แห้ง เดี๋ยวสุนัขมากิน ให้ไปปักในน้ำ มันก็มากินตายเรียบ ส่วนมากพวกตัวเงินตัวทองจะชอบกินปลาตาย ส่วนปลาเป็นๆ มันจับไม่ทันหรอก ถ้ามีปัญหาเรื่องปลาส่วนใหญ่ผมแก้ปัญหาได้หมด เพราะผมมีอาชีพเลี้ยงปลา แต่ถ้าไปถามที่ร้านวัสดุก่อสร้าง ญาติเขาถามว่าจะเลี้ยงปลาดีไหม? เขาก็จะบอกว่า อย่าทำนะ น้ำท่วมเดี๋ยวปลาไปหมด หรือเดี๋ยวมีคนมาขโมยปลาไปหมด เขาก็ต้องตอบอย่างนั้น เพราะเขาไม่มีประสบการณ์ แต่ถ้ามาถามคนรู้ก็แก้ไม่ยาก

 เรื่องงู จะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร?
เท่าที่เจอมีจำนวนน้อย ยิ่งมีพิษยิ่งดี ผมจับขายหมด จับขายได้ตัวละ 200 บาท ส่งร้านอาหารแถวนี้ เป็นร้านอาหารป่า เขารับหมดทั้งนั้น ก็มีงูเห่า ส่วนงูกินปลาก็กินปลาเล็กๆ ซึ่งตอนที่เราปล่อยปลาตัวเล็กมันก็คอยแอบมากิน เรารู้เพราะมีปลาตายไปบ้าง หรือเหลือเท่าไร คราวนี้ปลาพวกนี้ตัวมันใหญ่ขึ้น พวกงูกินปลามันก็กินไม่ได้แล้ว ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่ามีการสูญหายไป เวลาเราจะไปปล่อยปลา เราควรเผื่อจำนวนไว้ด้วย เช่น ปลาบ่อนี้เราต้องการเหลือไว้สัก 1,200 ตัว เราก็ปล่อยลงไป 1,500 ตัว

กรณีที่มีบ่อหลายบ่อ คุณเม่งฉ่องรู้ระดับน้ำจริงของแต่ละบ่ออยู่แล้ว แต่ถ้าหากเกิดน้ำท่วม ปลาจะไม่ออกจากบ่อหรือ?
 เราจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของข่าว โดยเฉพาะภาวะธรรมชาติ อุทกภัย และเมื่อเรารู้แล้วว่าน้ำมีการเคลื่อนที่อย่างไร มาจากไหน มาถึงไหน รุนแรงมากน้อยอย่างไร ดังนั้น เราจะต้องเตรียมรับมือโดยเราจะต้องทำให้น้ำในบ่อของเราสูงไว้ ยันมันไว้จากในคลองเจาะท่อไว้ แล้วเอาสวิงผูกที่ปากท่อให้น้ำระบายถ่ายเทน้ำออกได้ แต่ปลาออกไม่ได้ น้ำข้างนอกและข้างในต้องระดับเดียวกัน แต่อย่าให้น้ำในบ่อน้อย ถ้าข้างนอกพังลงมายกไม้สูงมันก็ยังลอดไปได้เลย มันได้น้ำใหม่มันออกหมด ต้องให้น้ำข้างนอกและข้างในระดับเดียวกัน หรือดูอย่างหน้าวัดที่เขาเลี้ยงปลาสิ เขาให้อาหารกัน ทำไมมันถึงไม่ไป แล้วทำไมอีกวัดต้องการคนเข้าวัด แล้วให้อาหารมากกว่ามันก็ไม่ยอมไป เพราะน้ำระดับเดียวกัน มันเท่ากัน แต่ถ้าวัดหนึ่งมีน้ำน้อย และอีกวัดหนึ่งระดับน้ำสูงกว่า มันก็ไปที่น้ำสูงกว่ามีที่อยู่ที่กินดีกว่า
มีคนถามผมว่า ไม่กลัวน้ำท่วมหรือ? ผมบอกไปว่า เมื่อผมเริ่มต้นทำใหม่ๆ ผมก็มีหนี้ ตอนที่ผมย้ายมาจาก เขตลาดปลาเค้า ก็ยังติดหนี้อยู่ เพราะต้องขยับมาทำบ่อใหญ่ขึ้น ต้องใช้งบฯ สูง ก็ไปยืมทางยี่ปั๊วเขามา แต่พอปีที่มีพายุใหญ่อีร่า ราวปี 2526 ช่วงนั้นดิ่งเลย เขาหาว่าผมบ้า ผมไปสาดน้ำให้ปลาทำไม น้ำท่วมหนีหมดแล้ว แถวๆ วัชรพล ระดับน้ำเลยหัวเข่า แต่รู้มั้ยปีนั้นผมหมดหนี้เคยจับได้ประมาณ 400,000 บาท ไม่เกิน 30 ไร่ ตอนนั้นปลาสวายตัวละ 7 บาท ตอนนี้กิโลกรัม 20 กว่าบาท เวลามีของต้องสืบราคาก่อน อย่าเพิ่งรีบปล่อย ปีนั้นผมหมดหนี้ เพราะผมให้อาหารปลาตามปกติ ปลามันก็มา ปลาที่อื่นๆ มันก็มากินอาหารที่ผมให้ มันมากันมากมาย เวลาผมจับ ผมจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นปลามาจากไหนบ้าง บางทีก็มีปลาวัดบ้าง มันดูไม่ออก ผมก็จับขายหมดเลย ใช้หนี้ใช้สินเรียบร้อยเหลือเงินอีกก้อนหนึ่งราว 200,000 บาท สมัยนั้นมีเงิน 200,000 บาท ก็หรูแล้ว ผมก็เลยมาทำเพิ่มเติมอีก

ขนาดปลา เล็กขนาดไหน ถึงจะรอดจากนก?
 ขนาดสักไฟแช็กซิปโป้ ความยาวไม่เป็นไร แต่ความกว้างของปลาต้องเท่ากับไฟแช็กหรือสักกล่องไม้ขีดก็ได้ ซึ่งมันคงกินไม่ได้แล้ว หรือพอถูกกินแล้วนิสัยของปลามันเจ็บ มันจะกางเงี้ยง

 การสร้างหรือขุดบ่อใหม่ควรเตรียมการอย่างไร?
 ถ้าขุดบ่อใหม่ ถ้าที่ดินเรามากนะ ที่สูงอย่าไปทำเพราะเปลืองแรงงาน เปลืองค่าน้ำมัน เปลืองค่าใช้จ่าย ให้ไปทำที่ลุ่มๆ เพราะมันเก็บน้ำอยู่ ถ้าหากไปทำที่ดินสูงเวลาจะอัดน้ำเข้าบ่อต้องใช้น้ำมันมาก แล้วน้ำมันก็แพง ค่าแรงก็แพง ถ้าจะได้ก็น้อย

ถ้าเราขุดบ่อใหม่ อัตราส่วนของดินที่ขายจากการขุดก็ต้องขายขาดทุนหรือขายมีกำไร?
 กรณีบ่อที่ขุด โดยเฉพาะที่ลุ่มถ้าไม่จำเป็นอย่าไปขายดิน เพราะเดี๋ยวจะถมยากและแพง ให้ดันขึ้นไปทำคันบ่อใหญ่ไว้ทำถนนให้รถวิ่งเลย อย่าไปขายดินเชียวนะ ไม่ใช่บอกว่าจะทำบ่อปลาแล้วรีบขุดดินไปขาย หรือบางคนเขาเปิดหน้าดินให้ฟรี แต่จริงๆ แล้วเขาหวังทรายที่อยู่ด้านล่าง ตอนแรกๆ ก็ใช้รถแบ๊คโฮ พอลึกลงไปก็ใช้เรือดูด แถวไทรน้อย ไทรใหญ่ และอย่างที่ผมบอกให้ดันขึ้นไปเป็นคันใหญ่ๆ เลย

บ่อทราย กับบ่อดิน อย่างไหนดีกว่ากัน?
 ถ้าเป็นบ่อทรายจะตื้นไม่ได้ ต้องลึกอย่างเดียว เพราะเขาเอาทรายไปขายมันก็ดี แต่ถ้าเป็นบ่อเล็กๆ ไม่ควรเป็นบ่อทราย เพราะมันจะตัดพวกเมือก พวกคาว ถ้าเป็นดินมันจะลื่น ถ้าบ่อเล็ก บ่อชำ อย่าไปทำบ่อทราย การได้ปริมาณสู้บ่อดินไม่ได้ แต่ถ้าเลี้ยงปลาใหญ่ได้ทั้งบ่อดินและบ่อทราย แต่ถ้าลึกกับลึกเท่ากันและเนื้อที่เท่ากันแล้ว บ่อดินดีกว่า เพราะบ่อดินมันมีการขับถ่ายแร่ธาตุต่างๆ ครบถ้วนดีกว่า ขี้ตะไคร่จะขึ้นดีกว่า บ่อลึกถ้าสัก 16 เมตร หรือ 20 เมตร ยิ่งดี ส่วนแถวนี้มันลึกไม่ได้ เพราะเวลาขุดลงไปตรงนี้พัง ตรงนั้นร่วง เดี๋ยวนี้บ่อปลามีแต่ตื้นๆ ไม่ค่อยมีลึก

 ถ้าไปได้บ่อที่กว้างๆ แล้วเราจะทำคันบ่อขึ้นมาใหม่ จะต้องทิ้งระยะห่างขอบบ่อกับความลึกสักเท่าไร ถึงจะปลอดภัย แล้วคันบ่อไม่พัง
ต้องเผื่อฐาน ให้มันมีฐานการขุดบ่อ จะต้องสโลปมากๆ แล้วมันจะไม่พัง แล้วถ้าเกิดไม่พอถ้าจะเสริมดินต้องเว้นไว้สัก 2 เมตร เว้นที่ขอบ ไม่ใช่ฐานล่าง แล้วอย่าไปใส่ข้างบน เพราะมันจะหนักและพังเร็วเลย

ในบ่อที่มีดินเป็นกรดหรือดินเปรี้ยว เวลาเตรียมบ่อจะต้องทำอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า?
 ถ้าน้ำเปรี้ยว เช่น แถวปราจีนบุรี ไม่ได้นะ แต่ถ้าน้ำกร่อยแถวแม่กลองไม่เป็นไร คือว่าถ้าน้ำเปรี้ยวเวลาปล่อยปลาลงไป เมือกจะไม่มี ตัวจะออกขุยเป็นจุด จุด จะลอยตัวช้า

การขุดบ่อ ถ้ามีทั้งบ่อลึกและบ่อตื้นเวลาเราสูบน้ำบ่อลึกดินจะมีการสไลด์หรือไม่?
 ก็เป็นได้ เพราะบ่อมันอยู่ใกล้กัน ถ้าสูบน้ำบ่อลึกออกด้านบน บ่อมันก็ต้องมีน้ำซึมเข้ามา มันก็อาจสไลด์ลงตามน้ำได้ ทางแก้ก็คือ อย่าไปสูบน้ำในบ่อใหญ่ออก แต่ถ้ามีความจำเป็น เช่น น้ำเปรี้ยว คุณก็ใช้ปั๊มเอาหัวกะโหลกแช่ลงไปลึกๆ คุณรู้ไหมว่า น้ำมี 3 ชั้น น้ำเปรี้ยวอยู่ชั้นล่างสุด ให้ใช้สายยางดูดน้ำที่อยู่ชั้นล่างออก แล้วปล่อยให้น้ำที่อยู่ด้านบนไหลวนลงมา ซึ่งถ้าเป็นขี้ไก่หรือขี้หมู ยิ่งขี้หมูถ้าเป็นน้ำเปรี้ยวจะช่วยได้มากเลย ไม่ต้องไปซื้อยูเรีย

 การขุดบ่อ จำเป็นต้องอยู่ข้างแหล่งน้ำหรือไม่?
 ไม่จำเป็น คือว่าถ้าเรามีสายต่อน้ำเพื่อให้ได้เข้าบ่อก็พอแล้ว

 ที่ฟาร์มเลี้ยงปลาที่นี่เคยวิดบ่อหรือไม่?
ไม่เคยวิดเลย ทุนน้อยเสียดายเงิน แต่ถ้าพวกมือใหม่จะวิดบ่อยมาก จับบ่อแห้งปล่อยใหม่เริ่มนับหนึ่งใหม่ อย่างผมจับปลาขายก็ประมาณ 20 เดือน แล้วก็ไปเลี้ยงอีกประมาณ 12 เดือน เพราะผมย่อเวลามาตั้ง 8 เดือน แล้ว เพราะผมชำแล้วผมก็ผลักมาใส่อีกบ่อ ระหว่างที่เราไปชำไว้มันจะกักกัน เหมือนไก่เราเอาสุ่มครอบ นก หนู มันก็ไม่ยุ่ง พอมันใหญ่หน่อยเราก็ย้ายไป มันจะโตเร็วไปหากินเอง ไม่มีศัตรู แล้วเราก็ชำรุ่นต่อไป

 บ่อชำ จะต้องมีเนื้อที่เท่าไร?
 ก็ประมาณ 2-3 ไร่ บ่อชำจะต้องสูบน้ำออกให้แห้ง แล้วทิ้งไว้ประมาณอย่างน้อย 10 วัน ผิวหน้าดินมันจะเผาแดดมันจะฆ่าเชื้อ ถ้าตรงไหนมีแอ่งก็เอาไซยาไนด์ไปแตะไม่ให้มันมีศัตรู บางทีปลาไหลหรืองูอาจจะไปอยู่ กรณีปูนขาวจะใช้หว่านก็ได้ แต่ผมไม่ใช้เลย บางคนเขาหว่านซะขาวไปหมด เขาก็มาหาผม บอกว่าเป็นหนี้ การเป็นหนี้มีได้หลายอย่าง การที่คุณทำไม่ดีมันก็อาจมีรอยรั่ว ถ้าผมรู้จักก็จะแนะนำเขา อยากให้เขาทำให้ได้ดี ให้เขาได้มีมันจะได้เหิมใจ มันก็อยากทำต่อไป ถ้าตอนแรกทำขาดทุน มันก็หมดกำลังใจไม่อยากทำแล้ว เหมือนขโมยที่มันทำจนถูกตำรวจจับได้ เพราะมันขโมยได้เรื่อยๆ

 บ่ออนุบาล ควรลึกประมาณเท่าไร?
 ประมาณ 80 เซนติเมตร -1 เมตร เพราะเป็นบ่อชำ และระหว่างตากแดดพอปล่อยน้ำลงต้องขึงมุ้งเขียวก่อนนะไม่อย่างนั้นปลาช่อนมัน จะโดดลงไป ถ้าคันบ่อใหญ่ก็คงไม่ต้องกั้น แต่ถ้าคันบ่อเล็กต้องกั้นมุ้งเขียวกั้นให้รอบก่อน บางทีมันโดดลงมาตัวสองตัว เราต้องคอยดูและจับออก ไม่อย่างนั้นในน้ำก็จะมีปลาช่อนเป็นศัตรู

 บ่อชำ ใส่น้ำตอนเย็น แล้วตอนเช้าใส่ปลาได้ไหม?
 ได้ ถ้าคุณมีปลามาพร้อมแล้ว เพราะบ่อชำใช้น้ำไม่มาก พักเดี๋ยวเครื่องติดระหว่างที่น้ำไปเราก็เอาสวิงช้อนกุ้งไปผูกที่ก้นท่อ ไม่อย่างนั้นมันจะไปตามท่อหรือไม่ก็ปากกระบอกท่อให้วิดลงในกระชังปลากระชัง มุ้งเขียวถ้าเกิดมีปลาติดไปมันก็ไปอยู่ในกระชังแล้วเราก็เก็บกระชังขึ้นมา ให้เหลือแต่น้ำ แต่ถ้าจะให้ดีนะ
ถามเขาดู เช่น ลงน้ำวันที่ 25 แล้วลูกปลาก็มา วันที่1 เพราะในช่วง 3-4 วัน ก่อนที่จะลงลูกปลาให้มันเกิดไรในบ่อ แต่ถ้าไม่มีไรเกิดเองเราก็ไปซื้อมาสัก 1-2 กิโลกรัม มาทำเชื้อ พอปลามาถึงปล่อยลงมันก็กินไรแดงซึ่งเป็นอาหารที่เยี่ยม เดี๋ยวนี้กิโลกรัมละ 80 บาท แถมน้ำมาให้ด้วย และหายากซะด้วย เวลานี้ใครมีความสามารถเพาะไรแดงขายมาหาผม เดี๋ยวหาลูกค้าให้ผลิตให้ไม่ทันหรอก



             ไปดูการเลี้ยงปลาบึกด้วยเศษอาหาร ต้นทุนต่ำ ได้กำไรสูง

ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืด ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และช่วง 1-2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ในธรรมชาติมีปริมาณลดน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยว่าถูกไล่ล่ามาเป็นอาหาร

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ สามารถนำพ่อแม่พันธุ์มาเพาะขยายพันธุ์ได้เหมือนกับปลาเศรษฐกิจทั่วๆ ไปแล้ว

คนไทยที่จารึกชื่อไว้เป็นผู้ขยายพันธุ์ปลาบึกได้รายแรกของโลกคือ คุณเสน่ห์ ผลประสิทธิ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง ปัจจุบันเป็นเจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาบึกรายใหญ่ จังหวัดเชียงราย

ช่วงแรกๆ หรือ 20-30 ปี ที่ผ่านมา นิยมจับพ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขง มารีดน้ำเชื้อและไข่ ทดลองมาหลายปี จนประสบความสำเร็จ จากนั้นนำลูกปลาที่เพาะเลี้ยงมาปล่อยคืนสู่กลับแม่น้ำ และเขื่อนต่างๆ ทั่วไป นอกจากนี้ ยังทดลองเลี้ยงไว้ในบ่อดินตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งของภาครัฐและเอกชน ปรากฏว่าปลาแต่ละวัยเจริญเติบโตดี และพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่พันธุ์รุ่นต่อไปด้วย

ไม่แปลกใจเลย ที่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยได้เห็นภาพการล่าปลาบึกจากธรรมชาติเพื่อมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ เพราะว่าส่วนใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนนิยมนำปลาจากบ่อเลี้ยงมาเพาะพันธุ์ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการจัดการและประหยัดเวลา รวมถึงการใช้จ่ายด้วย

ด้วยการพัฒนาการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้ ปลาบึกทั้งตัวเล็กและใหญ่มีให้เห็นตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำชั้นนำทั่วประเทศ

และตามร้านอาหาร หรือโรงแรมทั่วๆ ไป ก็นิยมนำเนื้อปลาชนิดนี้มาแปรรูปเป็นอาหารไว้บริการลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติด้วย

เนื้อปลาบึกที่นำมาเป็นอาหารนี้ ส่วนใหญ่มาจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำของภาคเอกชนหรือเกษตรกรเกือบทั้งนั้น

"จากการทำงานวิจัยปลาบึกมา 20 ปีเศษ สามารถสรุปได้ว่า ปลาบึก เป็นปลาที่เกิดมาเพื่อเลี้ยงปากท้องของพลโลกอย่างแท้จริง เพราะว่าปลาชนิดนี้มีคุณสมบัติสำคัญๆ ที่จะเลี้ยงเพื่อเป็นการค้าอย่างครบถ้วน คือเป็นปลาขนาดใหญ่ที่เจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าปลาน้ำจืดอื่นๆ ทุกชนิด ต้นทุนการเลี้ยงค่อนข้างต่ำ และทรหด อดทน สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยงได้ดี อีกทั้งมีภูมิต้านทานโรคสูง ไม่เคยพบปลาชนิดนี้มีโรคระบาดร้ายแรงใดๆ เลย นอกจากนี้ เนื้อมีรสชาติดี อร่อย ผู้คนให้ความนิยมบริโภคสูง และมีราคาแพงกว่าปลาชนิดอื่น เพราะเชื่อกันว่ากินแล้วอายุยืน และโชคดี" คุณเสน่ห์ เคยกล่าวไว้ในงานแถลงข่าวเมื่อหลายปีก่อน

ปลาบึกนี้ใช้ระยะการเลี้ยงเพียง 1 ปี ก็สามารถเจริญเติบโตได้น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 10 กิโลกรัม ต่อปีแล้ว ยิ่งเลี้ยงเข้าปีที่ 3 และ 4 ก็มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 50-80 กิโลกรัมแล้ว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณหนาแน่นในการปล่อยเลี้ยง และการให้อาหาร รวมทั้งสายพันธุ์ด้วย

"ตอนนี้มีเจ้าของฟาร์มสัตว์น้ำบางแห่ง นำปลาบึกมาผสมพันธุ์กับปลาสวาย กลายเป็นลูกผสม ชื่อ บิ๊กหวาย จำหน่ายลูกปลาในราคาถูกๆ ให้กับเกษตรกร ซึ่งปลาลูกผสมดังกล่าว จะมีข้อเสียคือ เจริญเติบโตช้า และราคารับซื้อเพียงกิโลกรัมละ 30-40 บาท เท่านั้น หากผู้บริโภคหรือเจ้าของร้านอาหารไม่มีความรู้หรือความชำนาญด้านนี้ จะดูไม่ออก เพราะว่าบิ๊กหวายกับปลาบึกนั้นมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่แตกต่างบริเวณหัว ลูกตา อาหาร สี และลักษณะตัว นอกจากนี้ ด้านรสชาติด้วย" คุณเสน่ห์ กล่าว

ปลาบึก ยิ่งตัวโต ยิ่งอร่อย ทั้งหนังและเนื้อ ส่วนบิ๊กหวายรสชาติคล้ายๆ ปลาสวาย

ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อลูกปลาบึกจากใคร ต้องสืบดูให้รู้แน่เสียก่อนว่าเป็นพันธุ์แท้หรือไม่ เพราะว่าบางครั้งอาจเจอบิ๊กหวาย และหากเลี้ยงโตแล้วนำไปเสนอขายให้กับพ่อค้าหรือเจ้าของร้านอาหาร ราคารับซื้อไม่ดีอย่างที่คิดก็ได้

จากการศึกษาความแตกต่างปลาบึกและบิ๊กหวายของคุณเสน่ห์ โดยใช้ลูกปลา ขนาด 3-5 นิ้ว พบว่า หัวปลาบึกพันธุ์แท้ ยาวใหญ่และจะงอยปากกว้างค่อนข้างตัดตรง เมื่อมองจากด้านบนคล้ายรูปสี่เหลี่ยม และลูกตาอยู่ในระดับต่ำกว่ามุมปากเล็กน้อย

หางของปลาบึกพันธุ์แท้ แพนหางบนและล่างเป็นแถบกว้างและถ่างออกจากกัน เป็นมุมกว้าง มีแถบสีดำพาดไปตามความยาวของขอบแพนหางด้วย

หัวแก้ม สันหลัง และครีบทุกครีบมีสีเหลืองชัดเจน และลำตัวกว้าง ท่าทีล่ำสันแข็งแรง ตรงกันข้ามกับปลาบิ๊กหวายที่มีหัวแก้ม สันหลัง สีเทาอมดำชัดเจน เมื่อดูด้านข้างลำตัวแคบ ว่องไว ปราดเปรียว

"ผมอยากให้ทุกคนที่อยู่ในวงการสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงหรือผู้บริโภค มีความรู้ รู้จักสังเกต ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการถูกหลอก ไม่ใช่หลงเลี้ยงจนโต เมื่อถึงเวลาจับขายกลับได้ราคาถูก หรือผู้บริโภคหลงซื้อราคาแพง แต่รสชาติหรือคุณภาพเนื้อไม่อร่อย" คุณเสน่ห์ กล่าว

การเจริญเติบโตของปลาบึกนั้น ดังที่บอกแล้ว นอกจากสายพันธุ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาด้วย

ตามธรรมชาติปลาบึก เมื่อยังเล็กอยู่จะกินพวกสัตว์น้ำขนาดเล็ก ตั้งแต่โรติเฟอร์ ไรน้ำ หนอนแดงแมลงในน้ำ ลูกกุ้ง ลูกปลา ไปตามลำดับของอายุ และขนาดของตัวเอง จนถึงเมื่อมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร จึงจะเริ่มเปลี่ยนนิสัยการกิน เพราะฟันในปากเริ่มเสื่อมสูญไป หันมากินพืชในน้ำเป็นอาหารหลัก

ปลาชนิดนี้หากใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปของปลาดุกหรือปลากินพืชก็จะทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงค่อนข้างสูง เพราะว่าเป็นปลาตัวใหญ่ ซึ่งปัจจุบันนี้ฟาร์มเลี้ยงปลาบึกทั่วๆ ไป มักจะผลิตอาหารขึ้นมาเอง โดยใช้การผสมดังนี้ คือปลายข้าวเหนียว ปลาป่น กากถั่วเหลือง รำละเอียด และน้ำมันพืช ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อประหยัดต้นทุนในการเลี้ยงปลานั่นเอง

ข้อมูลการเลี้ยงปลาบึกของคุณเสน่ห์ พบว่า การที่จะให้ปลาโตหรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม นั้นจะต้องลงทุนผลิตอาหารให้กินประมาณ 50 บาท ซึ่งเป็นการใช้เงินที่สูง อย่างไรก็ตาม ราคารับซื้อผลผลิตปลาบึกโดยทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ 100 บาท ต่อกิโลกรัม

"ในอนาคตเมื่อมีผลผลิตออกท้องตลาดเยอะ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ราคารับซื้อจะดีอยู่อีกหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าหากกรมประมงสามารถผลักดันให้ปลาบึกเป็นปลาเศรษฐกิจสามารถจำหน่ายในต่างประเทศได้ ปัญหาการตลาดหรือผลผลิตตกต่ำแทบจะไม่มี เนื่องจากเป็นปลาน้ำจืดที่ตลาดต้องการมาก โดยเฉพาะประเทศจีน ผู้คนนิยมบริโภคกันเยอะเลยทีเดียว"

"ตอนนี้ปลาบึกอยู่ในบัญชี 1 ของไซเตส ผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีการผลักดันปลาบึกให้อยู่ในบัญชี 2 ซึ่งจะสามารถซื้อขายระหว่างประเทศได้ เหมือนๆ กับจระเข้ และเมื่อถึงเวลานั้น ปลาบึกจะเป็นปลาเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ ราคารับซื้ออาจจะดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้" คุณเสน่ห์ กล่าว

ลดต้นทุนการเลี้ยงด้วยเศษอาหาร

เอ่ยชื่อ คุณเม่งฉ่อง นิลพัฒน์ อยู่บ้านเลขที่ 7/1 หมู่ที่ 10 ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โทร. (081) 839-2496 แฟนๆ นิยตสารเทคโนโลยีชาวบ้านคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะว่าเมื่อปีที่แล้วได้นำเสนอเรื่องราวของชายผู้นี้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์น้ำแนวธรรมชาติด้วยเศษอาหารมา 4 ตอน เต็มๆ โดยเน้นเรื่องปลาสวาย ปลาจะละเม็ดน้ำจืด ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาดุกบิ๊กอุย เป็นต้น

วันนี้จะนำมาเสนออีกครั้ง แต่จะเน้นเรื่องปลาบึกเป็นหลัก เนื่องจากข้อมูลการเลี้ยงปลาชนิดนี้ยังมีการเผยแพร่กันค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่การเพาะขยายพันธุ์ประสบความสำเร็จมานานหลายปีแล้ว

การเลี้ยงปลาบึกแบบฉบับของคุณเม่งฉ่องนั้นน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าใช้ต้นทุนในการเลี้ยงค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลสองประการหลักๆ คือ หนึ่งใช้เศษอาหารเลี้ยงปลา และในระหว่างเลี้ยงหรือจับปลาขายไม่เคยดูดน้ำทิ้งหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำเลย

"ผมมีบ่อเลี้ยงปลาหลายสิบบ่อ รวมๆ เนื้อที่แล้ว ไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ และรถกระบะอีก 10 คัน เพื่อไว้สำหรับวิ่งรับเศษอาหารตามศูนย์การค้า โรงแรม และโรงเรียน วันหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ตัน เศษอาหารพวกนี้เราก็นำมาเลี้ยงปลาสวาย ปลาจะละเม็ด ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาดุกบิ๊กอุย รวมทั้งปลาบึกด้วย" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

เศษอาหารดังกล่าว คุณเม่งฉ่อง ไม่ใช่จะได้มาฟรีๆ ส่วนใหญ่จะใช้เงินซื้อมาในราคาค่อนข้างต่ำ รวมๆ แล้ว อยู่ที่ 2-3 บาท ต่อกิโลกรัม (รวมค่าขนส่งด้วย)

เขาเช่าที่ดิน เพื่อใช้เลี้ยงปลาบึกอยู่เกือบๆ 80 ไร่ ในราคา 70,000 บาท ต่อไร่ ต่อปี ซึ่งที่ดินผืนนี้เดิมทีเป็นท้องนา แต่ถูกขุดหน้าดินขาย กลายเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้ ยกเว้นเลี้ยงปลาอย่างเดียว



ซื้อพันธุ์ปลาบึกมาปล่อยเลี้ยง

พันธุ์ปลาบึกที่ซื้อมาเลี้ยงนั้น มาจากหลายฟาร์ม และส่วนหนึ่งก็ซื้อมาจากคุณเสน่ห์ ซึ่งคุณเม่งฉ่องจะเน้นปลาพันธุ์แท้เท่านั้น โดยเขาให้เหตุผลว่า จะเจริญเติบโตเร็ว และรสชาติดี ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาด้านตลาดที่จะตามมา

"ตอนนี้ตลาดปลาบึกผมมีอยู่ในมือ 3-4 แห่ง คือ หนึ่ง ตามตลาดสดทั่วไป สอง ร้านอาหารและโรงแรมชั้นนำ สาม ผู้ส่งออก และสี่ บ่อตกปลาทั่วๆ ไป ซึ่งผมจะจับทั้งปลาตายและปลาเป็น ตลาดสดราคารับซื้ออยู่ที่ 80 บาท ต่อกิโลกรัม ผู้ส่งออก ราคาอยู่ที่ 90 บาท ต่อกิโลกรัม และร้านอาหารหรือโรงแรมชั้นนำ ประมาณ 130 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนบ่อตกปลานั้น เราจะขายปลากันตัวเป็นๆ และรวมค่าขนส่งด้วย ซึ่งราคาอยู่ที่ 150-300 บาท ต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะทางในการขนส่ง" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

คุณเม่งฉ่องมีแรงงานในการเลี้ยงปลาทั้งหมด กว่า 20 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีผู้เชี่ยวชาญในการลากอวนจับปลาจำหน่ายอยู่เพียง 7 คน เท่านั้น

"ปลาทุกชนิดที่ผมเลี้ยงจะไม่มีดูดน้ำหรือถ่ายน้ำทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเตรียมบ่อ ระหว่างเลี้ยง หรือขั้นตอนการจับขาย ผมจะใช้หลักการธรรมชาติที่ในบึงใหญ่ๆ หรือทะเล ไม่เห็นว่ามีใครไปเปลี่ยนน้ำหรือเตรียมบ่ออะไรเลย พวกปลาหรือสัตว์น้ำมันอาศัยอยู่ได้ และมนุษย์ก็รู้จักจับปลาในธรรมชาติมายาวนานแล้ว ดังนั้น ที่ฟาร์มจะยึดหลักธรรมชาติทั้งสิ้น" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

คุณเม่งฉ่องจะใช้แรงงานลากอวนจับปลาบึกขายเกือบทุกๆ สัปดาห์ หรือตามใบสั่งซื้อของลูกค้า เมื่อรู้ว่าปลาเริ่มเบาบางลง คุณเม่งฉ่องจะสั่งซื้อลูกพันธุ์ปลามาปล่อยเพิ่มเติมลงไป

"ตอนนี้ ผมเลี้ยงปลาบึกเพื่อเป็นการค้าจริงจังมา 4 ปีแล้ว ซึ่งปลาบางตัวมีน้ำหนักมากถึง 80 กิโลกรัมแล้ว ผมจะเลี้ยงไปเรื่อยๆ ยิ่งโต ยิ่งดี เพราะว่าตลาดต้องการปลาทุกไซซ์ และการจัดการเลี้ยงหรือโรคภัยไข้เจ็บไม่มีด้วย เพราะฉะนั้นการเลี้ยงปลาบึกในความคิดส่วนตัวของผมนั้นไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย"

พันธุ์ปลาที่นำมาปล่อยเลี้ยงนั้น คุณเม่งฉ่อง บอกว่ามีหลายขนาด แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยหรือสามารถปล่อยเลี้ยงในบ่อใหญ่ๆ ได้เลย ก็คือ ขนาดเท่ากับปลาทู ซึ่งราคาซื้อขายพันธุ์ปลาขนาดดังกล่าวอยู่ที่ตัวละ 70-80 บาท

"ผมจะปล่อยเลี้ยง ในอัตรา 1,000 ตัว ต่อไร่ ช่วงแรกยังไม่กินเศษอาหาร ส่วนใหญ่จะซื้ออาหารเม็ดสำเร็จรูปปลาดุกมาหว่านให้กินก่อน เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 3 หรือน้ำหนักตัวได้ครึ่งกิโลกรัม ก็เปลี่ยนอาหารใหม่ โดยให้กินเศษอาหารแทน ซึ่งปลาจะชอบมาก โดยเฉพาะพวกเศษขนมปังและผักต้มกับน้ำก๋วยเตี๋ยวด้วย

"บ่อ 80 ไร่ นั้น ผมจะให้กินอาหารวันละ 400-600 กิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารเสียมากกว่า ส่วนผักต้มนั้นนานๆ จะให้กินสักครั้ง มันขึ้นอยู่กับความขยันของเรา และเศษผักที่เหลืออยู่ตามท้องตลาด"

"บางวันเราก็เอาขนมปังหมดอายุจากโรงงานแถวๆ รังสิต มาให้ปลากิน ซึ่งปลาก็ชอบเหมือนกัน แถมให้กินเพียงวันละ 100-200 กิโลกรัม ต่อวัน ก็เพียงพอแล้ว เพราะว่ามันเข้าไปพองในท้อง ทำให้ปลาอิ่ม ไม่เหมือนกับผักหรือเศษอาหาร ต้องให้กินมากถึง 1 เท่าตัว แต่ขนมปังนั้นมีข้อเสียอยู่คือ มีปริมาณน้อย และไม่ต่อเนื่อง แตกต่างกับเศษอาหารมาก เพราะว่ามีทุกๆ วัน เลยทีเดียว" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

เมื่อเลี้ยงปลาได้ปีที่สอง เขาก็เพิ่มปริมาณอาหารเป็น 1,000 กิโลกรัม ต่อวัน และปีที่สามก็เพิ่มขึ้นอีก 1,500 กิโลกรัม

"เศษอาหารที่เราขนส่งหรือนำมาให้ปลากินเป็นอาหารนั้น ส่วนใหญ่จะใส่ไว้ภายในถัง 200 ลิตร บรรทุกโดยรถกระบะมาถึงปากบ่อ จากนั้นก็เทใส่ในบ่อเลย ปลาบึกก็จะว่ายเข้ามากิน และพวกปลาตัวเล็กๆ เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน มาเก็บกินเศษอาหาร หรือกินปลาบึกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งช่วงแรกผมจะปล่อยลงเลี้ยงรวมกัน โดยมีอัตรา 1,000 ตัว ต่อไร่ เพื่อไว้เป็นเทศบาลคอยทำความสะอาดภายในบ่อเลี้ยง แต่เชื่อมั้ยว่าเลี้ยงได้ 1 ปี ปลาพวกนี้ก็จับขายได้ไม่ต่ำกว่า 20 ตัน ต่อปี เลยทีเดียว" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

คุณเม่งฉ่อง บอกว่า ช่วงเวลาให้อาหารที่เหมาะสมก็คือ ตอนกลางวัน หรือตอนบ่ายๆ หากให้กินช่วงเช้า น้ำภายในบ่อ โดยเฉพาะจุดเทอาหารจะมีสภาพไม่ดี และมีกลิ่นด้วย เพราะว่าแสงแดดน้อย ทำให้ไม่สามารถมาฟอกสภาพน้ำได้ดีอย่างเพียงพอ

"ผมมีความสุขกับอาชีพเลี้ยงปลามากเลย เพราะว่าไม่มีเสียงพูด เสียงบ่น ไม่เหมือนกับเลี้ยงสัตว์อื่นๆ พวกหมู พวกไก่ หากเราไม่ให้อาหารมันก็ร้องเสียงดัง แต่เลี้ยงปลานี้ วันไหนไม่ให้อาหารเลี้ยง หรือมีปริมาณน้อย มันก็ไม่ร้องเสียงดังเหมือนสัตว์อื่นๆ เลย ผมชอบอาชีพนี้มาก และจะทำไปเรื่อยๆ" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

และว่า พวกปลาบึกที่เลี้ยงในบ่อขนาดใหญ่นี้ ก็จะเลี้ยงไปเรื่อยๆ ยิ่งอายุมากก็ยิ่งดี เพราะว่าจะได้ปลาตัวใหญ่ไปอีก ซึ่งคิดว่าราคารับซื้อคงจะไม่มีปัญหา เพราะว่าสามารถตกลงกับผู้รับซื้อก่อนจับได้ หากไม่พอใจ ก็ยังไม่จับขาย

"ปลาบึกนี้มันเจริญเติบโตเร็วมาก ผมคิดว่า หากเลี้ยงถึง 7-8 ปี เราก็อาจได้ผลผลิตปลาแต่ละตัวเกือบ 200 กิโลกรัมเลย ซึ่งเวลาจับขายแต่ละครั้งก็ได้เงินมาค่อนข้างมาก คุ้มค่ากับการรอคอย อย่างไรก็ตาม ระหว่างเลี้ยงอยู่ ถ้าเราเดือดร้อนเรื่องเงินก็สามารถจับขายได้เรื่อยๆ แต่ในส่วนของผมตอนนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเงิน ดังนั้น ขึ้นอยู่กับความพอใจของเราเอง ว่าต้องการราคาเท่าไร ไม่ใช่ว่าให้ใครมากำหนดราคาขายของเรา เพราะว่าตลาดรับซื้อผลผลิตของผมมีหลายระดับ ทั้งตลาดสด ร้านอาหาร ผู้ส่งออก และบ่อตกปลา ไม่พอใจ ก็ไม่ขาย" คุณเม่งฉ่อง กล่าวทิ้งท้าย



ชวนทัศนศึกษาการเลี้ยงปลาด้วยเศษอาหาร ต้นทุนต่ำ กำไรงาม

ใครสนใจอยากศึกษาการเลี้ยงปลาบึก ปลาสวาย ปลาจะละเม็ด ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุกบิ๊กอุย โดยไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำ และใช้เศษอาหารเลี้ยงเพื่อลดต้นทุน สูตรง่าย ๆ ของ คุณเม่งฉ่อง นิลพัฒน์ อยู่บ้านเลขที่ 7/1 หมู่ที่ 10 ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โปรดสอบถามได้ที่โทร. (086) 318-5789 รับจำนวนจำกัด

งานนี้คุณเม่งฉ่องบอกว่า ช่วงเช้า เราจะเรียนรู้การเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติทุกชนิดบริเวณปากบ่อ ช่วงบ่าย จะสาธิตการลากอวนจับปลาบึก และปลาอื่นๆ ส่งขายสู่ตลาด

จุดประสงค์การท่องเที่ยวครั้งนี้ เพื่อศึกษาการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบต้นทุนต่ำ ซึ่งสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ทั่วประเทศ รับรองไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร พลาดไม่ได้ นานๆ มีสักครั้ง

1 ความคิดเห็น: